ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยคลินิกหมอครอบครัวบางคูรัด นนทบุรี คิดค้นนวัตกรรมแอปพลิเคชันให้ความรู้การดูแลฟันในเด็กเล็ก ผู้ใช้งานส่วนใหญ่พอใจ ร้อยละ 61 และสนับสนุนเครือข่ายมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ จัดอบรมอาสมัครดูแลผู้สูงอายุฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยติดเตียง ตามแนวคิด “บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยี”
วันนี้ (13 กันยายน 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีเปิด คลินิกหมอครอบครัว(Primary Care Cluster : PCC) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธี และให้สัมภาษณ์ว่า คลินิกหมอครอบครัวบางคูรัด เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย องค์กรภาครัฐและเอกชน ระดมสรรพกำลังในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ โดยจัดให้มีทีมหมอครอบครัวจากทุกภาคส่วน ร่วมกันดำเนินงานบูรณาการในรูปแบบประชารัฐ ในการส่งเสริม สนับสนุน ดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาประชาชนดุจญาติมิตร มีทีมหมอครอบครัวทั้งสิ้น จำนวน 3 ทีม ใน 1 ทีมประกอบด้วย กลุ่มวิชาชีพต่างๆ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล เภสัชกร เจ้าพนักงานเภสัชกรรม พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย
ที่ผ่านมาคลินิกหมอครอบครัวบางคูรัด ได้เริ่มดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวตั้งแต่ปี 2559 โดยจัดทำโครงการอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ทำให้พื้นที่มีหมอครอบครัวและอาสาสมัครคอยดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดที่นอนติดเตียง 8 เดือน หลังจากได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยสามารถยืน เดินโดยใช้ walker และนั่งรถเข็นไปทำงานได้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อซีกขวาอ่อนแรง หลังจากได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยสามารถยืน เดินโดยใช้ walker ได้ นอกจากนั้น ยังจัดระบบบริการด้านการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพทุกกลุ่มวัย เช่น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ คลินิกเด็กดี กลุ่มก่อนวัยเรียน และกลุ่มวัยเรียน เนื่องจากในพื้นที่อำเภอบางบัวทอง มีอัตราการเกิดฟันผุในเด็กเล็กค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 52 จึงมีการผลิตคิดค้นนวัตกรรมแอปพลิเคชันให้ความรู้การดูแลฟันในเด็กเล็ก ผู้ใช้งานส่วนใหญ่พอใจในการใช้งานแอปพลิเคชันมาก ร้อยละ 61
คลินิกหมอครอบครัวบางคูรัด เป็นอีกหนึ่งสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลงานเด่น เน้นปฏิรูปการให้บริการในระดับปฐมภูมิที่เชื่อมระหว่างชุมชนและการบริการในโรงพยาบาลอย่างไร้รอยต่อ อาศัยการมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ ที่ภาครัฐ ประชาสังคมและเอกชน ร่วมกันบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับพื้นที่ มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแพทย์แผนไทยบูรณาการในการบริการสุขภาพทุกระดับ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน เสมือนเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติของครอบครัว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นได้สะดวก รวดเร็ว ไม่แออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยในระยะเวลา 10 ปี กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ 6,500 ทีม ดูแลประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศ ตามแนวคิด “บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยี”
********************************** 13 กันยายน 2560
View 35
13/09/2560
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ