ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือบริหารการใช้ยาสมเหตุผล หากพบมีการใช้ยาผิดปกติให้ตรวจสอบ พร้อมรายงานทันที

              วันนี้ (10 ตุลาคม 2560 ) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์เภสัชกรรม เปิดการประชุม “แนวทางการจัดหายาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรมตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง” โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้างานเภสัชกรรม จากหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน

              นายแพทย์เจษฎากล่าวว่า การประชุมวันนี้มีจุดมุ่งหมายให้หน่วยบริการเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการจัดหายาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยบริการในสังกัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ.ฯ ฉบับใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ มุ่งเน้นการป้องกันการทุจริต รวมทั้งประกาศและกฎกระทรวงการคลังที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มียาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่องภายใต้ความจำกัดของงบประมาณ

          “การประชุมครั้งนี้ทุกท่านจะได้คำตอบในเรื่องแนวทางการจัดซื้อยา เทคนิคการบริหารยา รวมทั้งการจัดซื้อตามบัญชีนวัตกรรมที่กำลังรอประกาศ ทั้งนี้ขอให้ยึดตามบัญชียาหลักแห่งชาติเพราะนวตกรรมส่วนใหญ่อยู่ในบัญชียาหลักแล้ว และเมื่อมีประกาศออกมา จะมีการประชุมชี้แจงกับหัวหน้าห้องยา ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างอีกครั้ง” นายแพทย์เจษฎากล่าว

          นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดำเนินการดังนี้          1.ใช้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมือบริหารการใช้ยาสมเหตุผล(RDU) เพื่อให้การใช้ยาในโรงพยาบาลทรงคุณค่า และใช้ตามความจำเป็น 2.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจสอบคลังยา หากพบมีการใช้ยาผิดปกติขอให้ดำเนินการตรวจสอบพร้อมรายงานมายังส่วนกลางทันที

          สำหรับการจัดซื้อยาในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้การเจรจาต่อรองเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 2 ตัว ส่วนใหญ่ราคาเท่าเดิม บางส่วนถูกลงประหยัดงบได้มากกว่า 80 ล้านบาท และได้รับการยืนยันจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมว่า จัดซื้อทันแน่นอนไม่มีปัญหาการขาดยา กรณียาบางตัวที่มีแนวโน้มจะขาด องค์การเภสัชกรรมจะสำรองไว้ให้หน่วยบริการยืมใช้ได้ทันที

 ***************  10 ตุลาคม 2560



   
   


View 29    10/10/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ