องคมนตรีแนะผู้บริหารโรงพยาบาล น้อมนำแนวคิดและหลักการทรงงานที่ยึดหลักการทำงานอย่างพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดความสุขในการทำงานและให้บริการประชาชนที่ดีที่สุด วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง “ประกอบวิชาชีพอย่างไรให้เกิดสุข” เพื่อให้ผู้บริหารโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ตระหนักและยึดหลักการทำงานอย่างพอเพียง เพื่อให้เกิดความสุขในการทำงาน โดยน้อมนำแนวคิดและหลักการทรงงานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแบบอย่าง และจัดบริการแก่ประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบบริการสุขภาพให้ดีที่สุด โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้บริหารระบบบริการสุขภาพ ผู้บริหารองค์การสุขภาพ สมาชิกสมาคม นักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยร่วมประชุมกว่า 300 คน และ ในวันนี้ได้มอบวุฒิบัตรและอนุมัติบัตรให้แพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรม และสอบผ่านความรู้ด้านเวชกรรมป้องกัน 6 แขนง ได้แก่ แขนงระบาดวิทยา เวชศาสตร์ป้องกันคลินิก อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เวชศาสตร์การบิน สาธารณสุขศาสตร์ และแขนงสุขภาพจิตชุมชน จำนวน 96 คน ในการนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการทำงานด้านสาธารณสุข ตามรอยพระยุคลบาท” ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยึดหลักทำงาน 24 ข้อ อาทิ การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบก่อนที่จะพระราชทานโครงการความช่วยเหลือ ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญงอกงามจะเน้นที่การระเบิดข้างในก่อน โดยการสร้างความเข้มแข้งให้ชุมชน ให้มีสภาพพร้อมก่อนที่จะรับพัฒนา ทรงมองปัญหาในภาพรวมก่อน แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มที่จุดเล็กๆก่อน และทำตามลำดับขั้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่องานสาธารณสุข เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของประชาชน ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวมหรือทรงมองอย่างครบวงจร คือมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง การไม่ติดตำรา คือไม่ผูกมัดกับวิชาการเทคโนโลยี ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย และทรงมองว่าการขาดทุนคือกำไร ภายใต้หลักการ การให้และการเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไรคือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ประเทศจะก้าวหน้า และการที่คนจะอยู่ดีมี่สุขนั้นไม่สามารถนับเป็นมูลค่าเงินได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกครั้งที่ทรงช่วยเหลือประชาชน “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น” และให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข็มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้าน ซึ่งจะสามารถทำให้อยู่ได้อย่างสมดุลในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย กล่าวว่า งานคือ แหล่งความสุขของชีวิตคนเรา เพราะงานไม่เพียงช่วยให้มีรายได้ แต่ยังช่วยให้ชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า ได้ทำประโยชน์ แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังต่อบริการการแพทย์และสาธารณสุขสูงขึ้น ทำให้เกิดการร้องเรียน ฟ้องร้องเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญบุคลากรที่ทำงานอย่างเสียสละจึงหมดกำลังใจ ทอดทิ้งวิชาชีพ สมองไหลไปทำงานกับภาคเอกชนซึ่งมีค่าตอบแทนสูงกว่า 3 เท่าตัว เนื่องจากต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดความรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไข สร้างแรงจูงใจให้บุคลากรอยู่ในระบบให้ได้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน ทั้งนี้ จากการสังเคราะห์ผลการวิจัยเรื่องความสุขจากทั่วโลกพบปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่มีผลต่อความสุขในชีวิต ได้แก่ 1.ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว 2.ฐานะการเงิน 3.การงาน 4.เพื่อนฝูงและสังคม 5.สุขภาพ แม้ว่างานจะอยู่ในอันดับ 3 แต่พบว่าคนทำงานใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงาน นายแพทย์ปราชญ์ ได้แนะการประกอบวิชาชีพอย่างมีความสุขว่า ต้องเลือกลักษณะงานให้ตรงกับความถนัด ทำงานอย่างมีเป้าหมาย ดูแลสมดุลของชีวิตลงตัวในทุกด้าน และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะงานวิชาชีพต้องอาศัยหลักวิชาการที่ถูกต้องและทันสมัย ต้องติดตามความก้าวหน้าใหม่ๆในสาขาของตนอยู่เสมอ ซึ่งจะให้ผลทั้งเป็นผู้มีวิชาการที่ทันสมัยและด้านชีวิตส่วนตัวด้วย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว พฤศจิกายน ********************************** 1 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 7    01/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ