รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันนโยบายหนุนไทยผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศ เผยในปี 2550 ไทยใช้วัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานประมาณ 1,000 ล้านบาท กว่าร้อยละ 80 ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เตรียม 6 ยุทธศาสตร์ใหญ่พัฒนาการผลิต วิจัย พัฒนาวัคซีนครบวงจร คาดปี 2552 จะสามารถให้วัคซีนครอบคลุมประชาชนกลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2550) ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาและโรงงานต้นแบบ ของบริษัท ไบโอเทค – เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนพื้นฐานของภาคเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย นายแพทย์มงคลกล่าวว่า วัคซีนจัดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ในการป้องกันโรคและควบคุมโรคติดต่อ มีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้วนับ 100 เท่าตัว โดยวัคซีนขณะนี้ มีทั้งชนิดให้เดี่ยวและชนิดแบบรวม ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขให้บริการวัคซีนป้องกันวัณโรค ตับอักเสบบี คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ คางทูม หัด หัดเยอรมัน ไข้สมองอักเสบ เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ใช้นั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการผลิตและนำเข้าวัคซีนพื้นฐาน เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก จำนวน 1,052 ล้านบาท และ พ.ศ. 2552 จำนวน 1,143 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ซึ่งจะมีผลให้คนไทยไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ โดยผลสำรวจความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานของเด็กไทย ในปี 2546 พบว่าเด็กไทยร้อยละ 94 ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอร้อยละ 98 ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 96 ได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคร้อยละ 99.5 ได้รับวัคซีนดีพีทีร้อยละ 98 ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดร้อยละ 96 ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนน้อยมาก โดยเฉพาะโรคโปลิโอ เด็กไทยปลอดการป่วยโรคนี้มาเป็นเวลา 10 ปี จึงทำให้ไม่มีปัญหาเด็กแขนขาลีบจากโรคโปลิโอ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทย ยังสามารถผลิตวัคซีนได้เพียงบางอย่างเท่านั้น โดยมีผู้ผลิตเพียง 3 ราย ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และบริษัทร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรมกับเมอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นโรงงานแบ่งบรรจุ จึงต้องมีการส่งเสริม การวิจัย และพัฒนาให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและวิจัยวัคซีนให้มากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการพึ่งพาตนเอง และเป็นหลักประกันความมั่นคงทางวัคซีนแก่คนไทยในการป้องกันโรค นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้จัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์พัฒนาวัคซีนแห่งชาติ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีน 2. ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการผลิตวัคซีนในประเทศให้ทันกับสถานการณ์โรค โดยรัฐสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก 3. ยุทธศาสตร์ด้านการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีนตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 4. ยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชนในประเทศ 5. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนและ 6. ยุทธศาสตร์ด้านการประสานงานระหว่างองค์กรเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิต ************************* 5 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 6    05/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ