ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยไทยขาดแคลนนักแก้ไขการพูดและนักแก้ไขการได้ยินอย่างหนัก ทั่วประเทศมีเพียง 110 คน ขณะที่ต้องการประมาณ 500 คน ขณะนี้ไทยมีเด็กเกิดใหม่หูหนวก หูตึง เพิ่มปีละเกือบ 2,000 คน และมีเด็กออทิสติกที่ต้องกระตุ้นฝึกการพูดทั่วประเทศอีก 300,000 คน เร่งผลักดัน ก.พ.กำหนดตำแหน่งให้ชัดเจนในโรงพยาบาล และเพิ่มการผลิตในระดับปริญญาตรี วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2550 ของสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย โดยมีนักแก้ไขการพูด นักแก้ไขการได้ยิน นักศึกษา พนักงานวิทยาศาสตร์ และผู้สนใจเข้าร่วมประชุม จำนวน 140 คน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้พิการและประชาชนที่มีความผิดปกติในการสื่อความหมาย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ปัญหาหูหนวก หูตึง และปัญหาด้านการพูด จัดเป็นความพิการที่บั่นทอนการใช้ชีวิตประจำวันมาก เป็นปัญหาสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจในปี 2544 พบว่า ในจำนวนผู้พิการทั้งหมด ร้อยละ 21-22 มีความพิการด้านการสื่อความหมาย ได้แก่ หูตึง หูหนวก เป็นใบ้ พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง และเป็นออทิสติก สูงเป็นอันดับ 2 รองจากความพิการด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งมีร้อยละ 40 โดยขณะนี้เด็กเกิดใหม่ทุก 1,000 คน จะมีเด็กพิการทางหู 2 คน หรือปีละ 1,600 คน และมีเด็กออทิสติก 300,000 คนทั่วประเทศ รวมทั้งมีผู้ปัญหาทางการสื่อความหมายอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย เช่น มีสติปัญญาต่ำกว่าอายุ ผู้ป่วยตัดกล่องเสียง ผู้ที่มีเสียงแหบ เด็กหลังผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหูชั้นในเทียมแก้ไขหูหนวก ทั้งหมดนี้ล้วนต้องได้รับการฝึกพูด เพื่อให้สามารถสื่อสารได้เหมือนกับคนปกติ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความพิการดังกล่าว ในอดีตมักจะปล่อยไปตามยถากรรม และมองว่าไม่ใช่การเจ็บป่วยแต่เป็นเรื่องกรรมเวร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้พิการเหล่านี้พูดสื่อสารได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด โดยการฝึกกระตุ้นจากนักแก้ไขการพูดและนักแก้ไขการได้ยิน ที่เดิมเรียกว่านักโสตสัมผัสวิทยา บุคลากรทั้งสองประเภทจะทำร่วมกันในสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย แม้ว่าวิชาชีพนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังขาดแคลนกำลังคนอย่างหนัก ในโรงพยาบาลรัฐ-เอกชนทั่วประเทศมีเพียง 110 คน เป็นนักแก้ไขการพูด 64 คน ที่เหลือเป็นนักแก้ไขการได้ยิน ในอัตราส่วนบุคลากร 1 คนต่อประชากร 250,000 คน ขณะที่ต้องการประมาณ 450-500 คน ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2519 มีการผลิตเฉพาะระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียว ไม่มีการผลิตระดับปริญญาตรี ดังนั้นหลังเรียนจบเมื่อกลับไปทำงานในโรงพยาบาลต้องทำงานตำแหน่งเดิม ไม่มีตำแหน่งนักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายตามที่ได้เรียนมา ทำให้บุคลากรเหล่านี้ไม่มีความก้าวหน้าเหมือนวิชาชีพอื่น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อขอเพิ่มตำแหน่งในสายงานการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 98 แห่ง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา และมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านความผิดปกติของการสื่อความหมาย แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ เริ่มรับนักศึกษาในปี 2547 ปีละ 30 คน จะจบการศึกษารุ่นแรกในปี 2551 นี้ ด้านรองศาสตราจารย์กฤษณา เลิศสุขประเสริฐ นายกสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในทีมสุขภาพ และเป็นสาขาที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะ ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2545 จึงควรกำหนดตำแหน่งในโรงพยาบาลให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะทำให้เด็กเกิดใหม่ที่มีความพิการ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของการสื่อความหมาย เสียโอกาสในการได้รับการวินิจฉัยและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา การพูด และการสื่อความหมาย ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิตมากเมื่อเติบโตขึ้น **************************** 7 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 6    07/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ