กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชน ระวังโรคติดต่อที่มาพร้อมกับลมหนาว ที่สำคัญมี 7 โรค ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน โรคสุกใส และอุจจาระร่วง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยจาก 7 โรคนี้รวมกว่า 1 ล้านราย มากที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง รองลงมาคือปอดบวม เสียชีวิตเกือบ 900 ราย นายแพทย์ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ ว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะยาวนานไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยจะหนาวกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสภาพอากาศที่หนาวเย็นนี้ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า โรคที่มักมากับความหนาวเย็น ที่พบได้บ่อยมี 7 โรค ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน โรคสุกใส และอุจจาระร่วง สาเหตุส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งชอบอากาศหนาวเย็น จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 จนถึงเดือนตุลาคม 2550 มีผู้ป่วยจาก 7 โรคนี้รวมกันทั่วประเทศ 1,180,848 ราย เสียชีวิต 1,058 ราย มากที่สุดคือ อุจจาระร่วง ป่วย 998,820 ราย เสียชีวิต 232 ราย รองลงมาคือ ปอดบวม ป่วย 111,640 ราย เสียชีวิต 816 ราย โรคสุกใส ป่วย 53,478 ราย เสียชีวิต 1ราย ไข้หวัดใหญ่ ป่วย 13,661 ราย เสียชีวิต 6 ราย โรคหัด ป่วย 2,586 ราย ไม่มีเสียชีวิต และหัดเยอรมัน ป่วย 238 ราย เสียชีวิต 1 ราย ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือนประชาชน ในการปฏิบัติตัวป้องกันไม่ให้ป่วยจากโรคดังกล่าว ด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว ประชาชนควรใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนชราและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคเบาหวาน ต้องระวังรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคน้อยกว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย โดยไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการไอจามรดกัน เชื้อจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย สามารถแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ หรืออากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงภาพยนตร์หรือศูนย์การค้า โดยไข้หวัดอาการเริ่มต้นจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ ส่วนไข้หวัดใหญ่อาการจะรุนแรงกว่า หลังมีอาการป่วยควรนอนพักมากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ เวลาไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปากจมูก เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โรคนี้อาการจะหายได้เองภายใน 2-7 วัน แต่หากไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ควรพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน ส่วนโรคปอดบวม มักเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากไข้หวัดประมาณ 2-3 วัน หรือติดเชื้อปอดบวมโดยตรง เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในกลุ่มโรคติดเชื้อที่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด เด็กน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่เป็นโรคหัวใจ เมื่อเป็นโรคปอดบวมแล้ว อาการมักจะรุนแรง อาการสำคัญคือ ไข้สูง ไอมาก หายใจเร็วหรือหายใจหอบ ถ้าเป็นมากจะหายใจจนซี่โครงบุ๋ม ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าป่วยหนักมักจะมีอาการซึม ไม่ดื่มนม อาจเกิดอาการชักหากมีไข้สูง บางรายหายใจเสียงดัง ปาก เล็บ มือ เท้าเขียว หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทันที เพราะหากรักษาช้าหรือดูแลไม่ถูกต้อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เป็นหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ หรือฝีในปอดได้ โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส พบบ่อยในเด็กอายุ 1-6 ปี ติดต่อทางการหายใจ ไอ จามรดกัน หลังได้รับเชื้อ 8-12 วัน จะมีไข้ ไอ น้ำมูลไหล ตาแดง เริ่มมีผื่นขึ้นประมาณวันที่ 4 หลังมีไข้ ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัว และจางหายไปภายใน 14 วัน ผู้ป่วยอาจมีโรคแทรกซ้อนสำคัญ ได้แก่ ปอดอักเสบ ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบ เมื่อมีเด็กป่วย ให้นอนพัก เช็ดตัวลดไข้ในช่วงมีไข้สูง และแยกเด็กออกจากเด็กอื่นๆ จนถึงระยะ 4-5 วันหลังออกผื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ดี โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ครั้งที่ 1 อายุระหว่าง 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 อายุ 4-6 ปี ส่วนโรคหัดเยอรมัน การติดต่อ อาการไข้และออกผื่นคล้ายโรคหัด เมื่อป่วยควรหยุดงานหรือหยุดโรงเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์ โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ ปวดข้อ ข้ออักเสบ สมองอักเสบ และหากป่วยขณะตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าเป็นหัดหรือหัดเยอรมัน ควรรีบพาไปพบแพทย์และแยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่นๆ โดยขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีวัคซีนรวม ป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ฉีดให้แก่เด็กอายุ 4 -6 ปีฟรี หลังได้รับวัคซีนจะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิต โรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันทางการหายใจ ใช้ของร่วมกัน หรือสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มที่ผิวหนังของผู้ป่วย มักพบในเด็ก เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต อาการเริ่มจากไข้ต่ำๆ ต่อมามีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มจากตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 หลังมีไข้ จากนั้นจะกลายเป็นหนองและแห้ง ตกสะเก็ด ในเวลา 5-20 วัน การป้องกันเหมือนกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่และโรคหัด สำหรับโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัส มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อได้ทางอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมทั้งน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดก่อนถ่ายเหลว โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง ควรให้เด็กกินอาหารเหลว เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด หรือนมแม่ให้บ่อยขึ้น หากกินนมผสมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ทีละน้อย ควรให้เด็กถ่ายอุจจาระในภาชนะรองรับมิดชิด และนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย โดยอาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง แต่หากไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์ ********************************* 11 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 6    11/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ