กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ พัฒนาบุคลากรรับมือการลำเลียงผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ จากเหตุภัยพิบัติระดับชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว ทางอากาศ เพิ่มความรวดเร็วในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพื่อป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจ ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด วันที่ (16 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมบรรยายเรื่องการลำเลียงทางอากาศของไทยในทศวรรษนี้ ในหัวข้อ “ภัยพิบัติระดับชาติกับบทบาทการลำเลียงสายแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข” จัดโดยสถาบันเวชศาสตร์การบิน กรมแพทย์ทหารอากาศ กองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์การบิน พยาบาลเวชศาสตร์การบิน แพทย์และพยาบาลวิชาชีพจากเหล่าทัพต่างๆ และภาควิชาการแพทย์ ตลอดจน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ที่จะประกอบวิชาชีพทางด้านการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ ร่วมประชุมประมาณ 800 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคต่างๆ ของโลก ประสบปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งจากธรรมชาติ เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยจากฝีมือมนุษย์ เช่น การก่อการร้าย สงครามชนกลุ่มน้อย และภัยจากโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งจะทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือผู้เจ็บป่วยจำนวนมาก ต้องลำเลียงผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการรักษา การลำเลียงโดยเครื่องบินสามารถขนย้ายคนจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีเครื่องบินลำเลียงของเอกชนเพียง 1-2 ราย ที่ให้บริการในประเทศ แต่มีขีดจำกัดมากเนื่องจากราคาแพงเกินกว่าประชาชนทั่วๆ ไปจะเข้าถึงบริการได้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ในการพัฒนาระบบการแพทย์ทางอากาศของประเทศไทย ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดงบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ โดยในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมามีการปฏิบัติการทั้งหมด 20 ครั้ง เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารลำเลียงผู้ป่วย ส่งต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ตลำเลียงผู้ป่วยจากเกาะมารักษาในโรงพยาบาลภูเก็ต และในปี 2551 ได้จัดงบประมาณ จำนวน 15 ล้านบาท มีเครือข่ายทั้งกองทัพอากาศ กองทัพเรือ กองทัพบกและตำรวจ โดยมอบหมายให้ศูนย์นเรนทร เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือ และมอบอำนาจในการสั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ตัดสินใจขอใช้เครื่องบินลำเลียงผู้ป่วย โดยประสานกับหน่วยบินของกองทัพต่างๆ ในพื้นที่ ที่ผ่านมาการขนย้ายผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บทางอากาศ ดำเนินการใน 2 ลักษณะคือ การใช้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยจากพื้นที่ห่างไกล เช่น ในถิ่นทุรกันดาร เรือในทะเล เกาะแก่งต่างๆ มายังกรุงเทพฯ ใช้เวลา 5 ชั่วโมง และมีเครื่องบินซี 130 จากสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ ขนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ 80 เปล ซึ่งสามารถลำเลียงผู้ป่วยทั้งยามปกติและยามภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยมีแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านเวชศาสตร์การบินเป็นการเฉพาะประจำการ 24 ชั่วโมง เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ การลำเลียงผู้ป่วยหน่อไม้พิษกว่า 40 ราย บินครั้งเดียว ด้วยเครื่องบินซี 130 จากโรงพยาบาลน่านมารักษาต่อในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์การบินดูแล ผู้ป่วยรอดชีวิตทุกราย ไม่มีโรคแทรกซ้อน สำหรับในอนาคตนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับสถาบันเวชศาสตร์การบิน อบรมพัฒนาให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข มีความรู้ด้านเวชศาสตร์การบิน เนื่องจากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ยังขาดความรู้ด้านเวชศาสตร์การบินจำนวนมาก ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะทาง เพื่อใช้ประเมินผู้ป่วยที่จะทำการขนย้ายโดยเครื่องบิน ซึ่งมีข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ปอด มีลมในช่องปอด อาจทำให้ปอดแฟบ เนื่องจากความกดอากาศเป็นอันตรายมาก ต้องลำเลียงทางบกเท่านั้น หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง หายใจไม่สะดวก อาจช็อคได้ โดยประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การบินน้อยมากเพียง 45 คน จะต้องเพิ่มให้ได้มากกว่า 100 คน ตามมาตรฐานสากล จึงจะสามารถรองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสม พฤศจิกายน ***************************** 16 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 6    16/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ