รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันกฎหมายควบคุมเหล้าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านวาระ 2 และ 3 ในปลายปี 2550 นี้ ชี้ผลการวิจัยฟันธง สุราไมใช่สินค้าธรรมดา เพราะทำให้เกิดผลเสียตามมาทั้งค่ารักษาพยาบาล ต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพ จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและจากการขาดงานและการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ต้นทุนการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องคดี และต้นทุนจากทรัพย์สินที่เสียหาย รวมแล้วสูงกว่าภาษีที่เก็บได้ถึงปีละกว่าแสนสองหมื่นล้านบาท บ่ายวันนี้ (22 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 3 เรื่อง " สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา " จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) และภาคีเครือข่าย 20 องค์กร โดยได้มอบรางวัลให้แก่คุณกมลทิพย์ ขลังพลังเนียม ผู้ชนะเลิศผลงานวิชาการเรื่อง " เส้นทางเข้าสู่น้ำเมาของเด็กวัยรุ่นในบริบทสังคมวัฒนธรรมอีสาน กรณีศึกษาชุมชนชานเมืองจังหวัดขอนแก่น " และมอบรางวัลผู้ชนะเลิศภาพถ่ายผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชื่อภาพว่า " จุดจบคอสุรา " ผลงานของนางสาวพัชรานันท์ บุญเติม ภาพชุด " กับแกล้ม " ของนายเสกสรร หวังใจสุข และ " เหล้าแก้วสุดท้าย " ผลงานของนายวีระพันธ์ ไชยศิริ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ในแต่ละปี มีคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 16.2 ล้านคน และเสียเงินซื้อไปเกือบ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 197,576 ล้านบาท ขณะที่รัฐได้รายได้จากภาษีสรรพสามิตสุราเพียงปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท หมายถึงรัฐขาดทุนปีละกว่า 120,000 ล้านบาท รัฐควรทบทวนแนวคิดว่าต้องเข้มงวดกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น เนื่องจากรัฐต้องสูญเสียงบประมาณแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภายหลังจำนวนมหาศาล "สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าทั่วๆไป เพราะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมพิเศษเพื่อลดผลกระทบปัญหาดังกล่าว ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพยายามเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งยาวนานถึง 6 เดือนแล้ว และจะส่งกลับเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 นี้ เพื่อให้มีการพิจารณารับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2551 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยลดการโฆษณามอมเมาเยาวชน ลดการส่งเสริมการขายด้วยวิธีลด-แลก-แจก-แถม จำกัดการเข้าถึงและการหาซื้อหรือดื่มที่สะดวกเกินไป และ เกิดหน่วยงานระดับชาติที่จะทำหน้าที่หลักในการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาสุราอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายแพทย์มงคล กล่าว ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า การศึกษาต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปี 2549 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) พบว่า ผลกระทบจากการที่คนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ เพียงแค่ 1 ปี ทำให้ ประเทศ ชาติสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลสูงถึง 197,576 ล้านบาท โดยที่หนึ่ง เป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาล 5,623 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.8 สอง เป็นต้นทุนจากการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร 128,365 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.0 สาม เป็นต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพ(Productivity) จากการขาดงานและการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน 62,638 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.7 สี่เป็นต้นทุนจากการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องคดีความ 171 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 และห้าเป็นต้นทุนจากทรัพย์สินที่เสียหาย 779 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.4 โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ค่าใช้จ่ายการสูญเสียสูงมากขนาดนี้ เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรถึง 38,868 คนในหนึ่งปี โดยที่การตาย 4 อันดับแรก ได้แก่ การตายจากโรคเอดส์ 9,254 ราย จากอุบัติเหตุจราจรทางบก 8,086 ราย จากมะเร็งตับ 5,953 ราย และจากโรคตับแข็ง 5,094 ราย และ ก่อให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานและขาดประสิทธิภาพในการทำงานรวมกันมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30 – 44 ปี สูญเสียผลิตภาพคิดเป็นมูลค่า 25,964 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 41.5 กลุ่มอายุ 45 – 59 ปี 18,661 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 29.8 และ กลุ่มอายุ 15 – 29 ปี หรือ ร้อยละ 23.8 ดร.น.พ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ กล่าวว่า " ข้อมูลทั้งหมดยืนยันชัดเจนว่าการดื่มแอลกอฮอล์มิได้ส่งผลเสียเฉพาะ ผู้ดื่มเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมความสูญเสียที่เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มากกว่ารายได้รัฐได้รับจากภาษีสรรพาสามิตสุรา โดยในปี 2549 รัฐเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เพียง 72,871 ล้านบาท ขณะที่ผลเสียที่เกิดขึ้นมีถึง 197,576 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานทางจิตใจที่ตามมา และ ผลเสียหายที่เกิดกับครอบครัวอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการควบคุมพิเศษอย่างเข้มข้น ” ******************************* 22 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ