ประธานชมรมสาธารณสุขจังหวัด ชี้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในสถานบริการทั่วไทยกำลังวิกฤติ เหตุจาก ก.พ.ไม่เข้าใจระบบงานสาธารณสุข จึงมุ่งแต่ลดจำนวนข้าราชการอย่างเดียว เผยองค์กรวิชาชีพสาธารณสุขกำลังรวมพลังผลักดันตั้งคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข (กสธ.) เพื่อบริหารจัดการบุคลากรเอง จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด นายแพทย์วุฒิไกร มุ่งหมาย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานชมรมสาธารณสุขจังหวัด ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กำลังเป็นปัญหาวิกฤติของสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศในขณะนี้ ว่า นโยบายการจำกัดกำลังคนภาครัฐ ที่มุ่งเน้นการลดจำนวนข้าราชการ โดยการตัดตำแหน่งข้าราชการที่เกษียณอายุให้ได้ตามเป้าหมายในแต่ละปี ทำให้ปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุข เช่น พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเดิมมีความขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนอยู่แล้ว มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภาระงานบริการด้านต่างๆ ไม่ได้ลดลงตามจำนวนตำแหน่งที่ตัด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร เพื่อไม่ให้ผลกระทบตกอยู่กับประชาน สถานบริการต่างๆ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินบำรุงของสถานบริการจ้างบุคลากรเหล่านี้ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว นายแพทย์วุฒิไกร กล่าวต่อว่า ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก จะต้องมีพยาบาลวิชาชีพ 1 คน : ประชากร 500 คน แต่จากการศึกษาของสภาการพยาบาล ในปี 2548 พบว่ายังขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอยู่ถึง 31,260 คน ขณะที่อัตราการสูญเสียออกจากระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 2.4 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2548 เมื่อภาระงานต่างๆ มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่คนที่อยู่ทำงานไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ค่าตอบแทนก็น้อย บุคลากรที่จบมาใหม่ๆ จึงไหลออกไปอยู่ภาคเอกชนที่งานน้อยแต่ค่าตอบแทนสูงกว่าแทน ซ้ำเติมปัญหาความขาดแคลนให้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น “ปัญหานี้ ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นกับ ก.พ. มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2547 มีการทำหนังสือไปหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร ทำให้ขณะนี้ทั่วประเทศมีพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่กว่า 7,000 คน ที่พร้อมจะออกจากระบบราชการเมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า” นายแพทย์วุฒิไกร กล่าว นายแพทย์วุฒิไกร กล่าวต่อไปว่า องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย ชมรมสาธารณสุขจังหวัด ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ชมรมผู้บริหารการพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลโรงพยาบาลทั่วไป สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางแก้วิกฤติดังกล่าว และเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องมาจาก ก.พ. ไม่มีความเข้าใจในการทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างแท้จริง ว่าเป็นงานที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือหรือคอมพิวเตอร์ทำแทนได้ และมองไม่เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาจะยิ่งบานปลายยากต่อการแก้ไขเยียวยาได้ จึงมีมติจัดทำข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุข ให้จัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (กสธ.) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาของบุคลากรสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศ ได้รับบริการที่มีคุณภาพดีที่สุด ******************************* 26 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 8    26/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ