กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมนานาชาติส่งเสริมจริยธรรมการวิจัยในคนเอเชียและแปซิฟิก เพื่อสร้างกลไกการคุ้มครองคนตามหลักจริยธรรม ป้องกันการตกเป็นหนูทดลองยา รวมทั้งให้ผลงานวิจัยเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วโลก เช้าวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมเจริญศรี แกรนด์รอยัล จังหวัดอุดรธานี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมนานาชาติเรื่อง การพัฒนาระบบการวิจัยสุขภาพ เพื่อพัฒนาการคุ้มครองอาสาสมัครที่ร่วมการวิจัยในมนุษย์ จัดโดยชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก (Forum for Ethical Review Committees in Asia & the Western Pacific : FERCAP) ร่วมกับกรมพัฒนากรแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม และสถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ ในระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2550 เพื่อเสริมสร้าง ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาวิจัยของประเทศไทยและในภูมิภาค โดยมีตัวแทนนักวิจัย นักวิชาการ จาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เนปาล ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว ไต้หวัน มองโกเลีย และไทย ประมาณ 200 คน นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขั้นตอนในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายา วัคซีนใหม่ๆ ก่อนที่จะมาสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม จะต้องผ่านการศึกษาทดสอบในคน ซึ่งในอดีตการนำคนมาทดลองยาหรือวิธีการรักษาโรค บางครั้งทำไปโดยไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมหรือหลักจริยธรรม ทำให้เกิดปัญหาการตกเป็นหนูทดลองยา ปัจจุบันได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ว่า การนำคนมาศึกษาวิจัยจะต้องได้รับความยินยอมสมัครใจอย่างแท้จริง และมีการคุ้มครองอาสาสมัครเหล่านั้นอย่างดี ตามหลักจริยธรรมสากล โดยองค์การสหประชาชาติ ได้ออกประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกำหนดว่า การที่จะนำคนมาศึกษาวิจัยโดยปราศจากการยินยอมของบุคคลนั้นไม่ได้ อย่างไรก็ดี กลไกการดูแลอาสาสมัคร ไม่ให้กลายสภาพเป็นหนูทดลองในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร โดยเฉพาะการทดลองยาและวัคซีน เช่น วัคซีนโรคเอดส์ หรือแม้แต่โรคซาร์ส หรือไข้หวัดนก ซึ่งยังไม่วัคซีนใดๆ ป้องกันหรือยารักษาที่ได้ผลโดยตรง และมักต้องทำการวิจัยในประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องพัฒนาระบบการดูแลอาสาสมัครในการวิจัยเหล่านี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญของการวิจัยเพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ ให้เข้าใจโรค รวมทั้งพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนเพิ่มขึ้นอีกคณะหนึ่ง มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์ของประเทศไทย เพื่อปกป้องความปลอดภัยของอาสาสมัครไทยในทุกๆ ด้าน ครอบคลุมทุกเงื่อนไขให้สอดรับกับมาตรการสากล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2551 นี้ และระหว่างรอกฎหมายฉบับนี้ แพทยสภาได้ออกระเบียบควบคุมการวิจัยในคน โดยระบุให้นักวิจัยต้องยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคน เพื่อให้อาสาสมัครทุกคนได้รับความคุ้มครองถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล ทางด้านนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนของไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว ทำให้นักวิจัยและผู้ที่มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ของไทย มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับนักวิจัยต่างชาติได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการพัฒนางานด้านวิจัย การประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทย และประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยรวม เพราะเป็นการส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยที่ถูกหลักจริยธรรม เพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ในภูมิภาคและในโลก *********************************** 28 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 6    28/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ