“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดระบบบริการห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน เพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ลดความแออัด ลดอัตราการเสียชีวิต และลดความพิการ
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2561) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการดำเนินงานระบบบริการห้องฉุกเฉิน (Emergency Care System) เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานระบบบริการห้องฉุกเฉิน (Emergency Care System) ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) จำนวน 150 คนเข้าร่วมประชุม
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบส่งต่อ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ลดอัตราการเสียชีวิต และลดความพิการของผู้ป่วยอุบัติเหตุและผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน และระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System : ECS) มีมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (EMS) การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาล (ER) การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน (Referral System) และการจัดการสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการพัฒนาห้องฉุกเฉินหรือห้องอีอาร์ ให้เป็นห้องฉุกเฉินคุณภาพ (ER QUALITY) ครบวงจร ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย มีความพร้อมให้บริการเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และรับส่งต่อจากโรงพยาบาลเครือข่ายภายในจังหวัด ตลอดจนลดความแออัดของห้องฉุกเฉิน นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาระบบบริการและเพิ่มศักยภาพในโรงพยาบาลทุกระดับ พร้อมรับคนไข้วิกฤติฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ประกอบด้วย การป้องกัน ณ จุดเกิดเหตุ การรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงจุดบริบาลกรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่
นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า การพัฒนาอีอาร์คุณภาพมี 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน โดยจัดบริการคลินิกนอกเวลา หรือพรีเมียมคลินิกสำหรับผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยวิกฤติที่ ได้รับการรักษาด่วนไม่อยู่ห้อง ER นานกว่า 4 ชั่วโมง 2.จัดมาตรฐานคุณภาพและการบริการห้องฉุกเฉิน อาทิ มีเครื่องช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจน ให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการตรวจรักษาก่อนตามลำดับความเร่งด่วน มีระบบช่องทางด่วน (Fast Track) ในกลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ จัดให้มีแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ต้องจัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์ที่ปรึกษากรณีจำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น และ3.การพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาวิชาชีพให้เพียงพอ ความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินไม่ถูกคุกคาม ในปีนี้ ได้กำหนดให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ประเมินและปรับปรุงตนเองให้ได้ตามเกณฑ์ ทั้งนี้ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
************************ 7 พฤษภาคม 2561