ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เข้มมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก    ทั้งการเฝ้าระวังโรค วินิจฉัยเร็ว รักษาเร็ว ให้คลินิก/ร้านขายยาช่วยแนะนำผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออกไปโรงพยาบาล ควบคุมโรคเร็วตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรก จัดระบบแพทย์เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ที่เกิดจากยุงลาย

          บ่ายวันนี้ (23 พฤษภาคม 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข    ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า ในปีนี้มีแนวโน้มการระบาด พื้นที่เสี่ยงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน   โดยรูปแบบของการระบาดเปลี่ยนไปมีการเสียชีวิตในผู้ใหญ่มากขึ้น ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 11,704 ราย เสียชีวิต 16 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ มีโรคประจำตัว ได้แก่ ภาวะอ้วน เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

 

         นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า ได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องลดอัตราป่วยตายต้องไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยมีมาตรการดังนี้ 1. การเฝ้าระวังโรค เน้นย้ำแพทย์ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ให้วินิจฉัยสงสัยโรคไข้เลือดออก ให้การรักษาตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์และ   ราชวิทยาลัย  แจ้งคลินิกและร้านขายยาในพื้นที่ ให้ช่วยส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยไข้เลือดออกไปโรงพยาบาล     ใกล้บ้าน รวมทั้งให้มีการเฝ้าระวัง วิเคราะห์ข้อมูลการเกิดโรค ชี้เป้าตำบลที่มีรายงานผู้ป่วยเกินกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังและมีการระบาดต่อเนื่องเกินกว่า 28 วัน

          2.การควบคุมโรค เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกๆ ของหมู่บ้าน ให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในรัศมี 100 เมตร จากบ้านผู้ป่วย หากยังคงพบผู้ป่วยต่อเนื่องให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน 3.การจัดระบบการให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วย โดยให้ทุกจังหวัดประชุมทบทวนกรณีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทุกราย (Dead case conference) อบรมแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และให้ทุกเขตจัดให้มีทั้งกุมารแพทย์และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา และ 4.การสื่อสาร ให้ประสานทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในสถานที่ราชการ โรงเรียน วัด พร้อมรณรงค์ในช่วง ASEAN Dengue Day (15 มิ.ย.) ให้ความรู้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต เน้นมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ดำเนินการต่อเนื่องทุกสัปดาห์ รวมถึงสำรวจลูกน้ำยุงลายในกิจกรรม “1วัด 1 โรงพยาบาล” ในวันวิสาขบูชา 29 พฤษภาคม 2561 นี้

            ทั้งนี้ จากการประเมินการรับรู้ประชาชน (DDC poll) เรื่องโรคไข้เลือดออกล่าสุด พบประชาชนมีการรับรู้ ไม่ถูกต้องหลายประการ เช่น คิดว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ ร้อยละ 28.6, ถ้ามีอาการป่วยจะซื้อยาแผนปัจจุบันกินเองร้อยละ 11.8 การกำจัดยุงในบ้านประชาชนเป็นหน้าที่หน่วยงานราชการมากถึงร้อยละ 68.8  

          ขอให้ประชาชนสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการไข้สูง 2 วัน ไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ เป็นต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422       

 ************************ 23 พฤษภาคม 2561



   
   


View 236    25/05/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ