กระทรวงสาธารณสุข เตือนคอทองแดงที่มีความเชื่อว่าดื่มเหล้าแล้วคลายหนาวได้ เป็นอันตรายมาก เสี่ยงเสียชีวิตได้สูง เนื่องจากหากดื่มมากเท่าใด ความร้อนในร่างกายจะถูกระบายออกมาก ทำให้อุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ พร้อมทั้งชี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงหัวใจวายได้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพอากาศในช่วงนี้หนาวเย็นมาก โดยฤดูหนาวทุกปีจะมีประชาชนตามชนบทในภูมิภาคต่างๆ นิยมดื่มเหล้า เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นร่างกาย แก้หนาวได้ นักดื่มบางรายหลังดื่มเหล้า เชื่อว่าไม่สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นก็ได้เพราะเหล้าทำให้อุ่นได้ ซึ่งในทางการแพทย์จัดว่าเป็นความเชื่อที่ผิดและเป็นอันตรายต่อร่างกายมาก เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบเหมือนว่าร่างกายอบอุ่นขึ้น ในทางตรงกันข้ามการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยนี้ จะเป็นช่องทางให้ความร้อนถูกระบายออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากดื่มเหล้ามากขึ้นเท่าใด ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นด้วย ผลตามมาคืออุณหภูมิในร่างกายอาจจะลดลงต่ำกว่าปกติ และหากเผลอนอนหลับไป ทำให้ร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานาน จะทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้หากนั่งดื่มเหล้าขณะผิงไฟไปด้วย ก็อาจเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เสื้อผ้า ผิวหนังพุพองจากความร้อน เปลวไฟหรือไฟไหม้บ้านได้ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้การผิงไฟสำหรับผู้ที่ไม่มีเสื้อกันหนาวเป็นวิธีการเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ โดยวัสดุเชื้อเพลิงที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่จะเป็นไม้ฟืนทั่วๆไปอาจก่อให้เกิดควันไฟ และเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ หากมีควันมากๆ จะทำให้แสบตา ดังนั้นผู้ที่กำลังเป็นหวัดไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ขอให้หลีกเลี่ยงการสูดควันเหล่านี้ โดยให้นั่งผิงไฟเหนือลม หากมีเสื้อผ้าบางๆ ก็อาจจะต้องใส่หลายๆชั้นได้โดยเฉพาะเวลานอน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงอากาศหนาวเย็นจะมีเทศกาลงานฉลองสังสรรค์มากมาย เช่น งานคริสมาสต์ งานส่งท้ายปีเก่ต้อนรับปีใหม่ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่มีงานเลี้ยง จะทำให้มีไขมันในเลือดสูงขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี และเสี่ยงต่อหัวใจวายได้ โดยคนที่ดื่มเหล้าหรือเบียร์ทุกวันจะมีพลังงานส่วนเกินจากเครื่องดื่มเหล่านี้สะสมในร่างกายวันละ 50 -200 กิโลแคลอรี จึงเหมือนกินไขมัน 1-4 ช้อนชา ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอาจถึงเดือนละ 1 กิโลกรัม หรืออาจมีไขมันในเส้นเลือดสูง ถึงแม้ไม่ได้อ้วนก็ได้ ทั้งนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเบียร์ 1 กระป๋อง ขนาด 120 ออนซ์ จะให้พลังงานประมาณ 115 แคลอรี เทียบเท่ากับกินข้าวสวย 1 ทัพพีครึ่ง การกินอาหารทั่วไป เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว กับเนื้อสัตว์ต่างๆน้ำหนักทุก 1 กรัม ร่างกายจะได้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้ำหนักทุก 1 กรัมจะให้พลังงานมากถึง 7 กิโลแคลอรี่ ดังนั้นการดื่มที่มีแอลกอฮอล์จึงเป็นสาเหตุน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นตัวการขัดขวางการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ไม่ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นหากเลิกดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ธันวาคม/8 *************************** 5 ธันวาคม 2550


   
   


View 6    05/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ