กระทรวงสาธารณสุขห่วงสุขภาพพระสงฆ์ ให้ทุกโรงพยาบาลจัดกิจกรรม 1 วัด 1 โรงพยาบาล เริ่มต้นพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันวิสาขบูชา 29 พฤษภาคม 2561 เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดโรคที่ป้องกันได้

            วันนี้ (28 พฤษภาคม 2561) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ แถลงข่าวกิจกรรม “1 วัด 1 โรงพยาบาล วันวิสาขบูชา” เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก

          นพ.เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมนำพระคติธรรมของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆมหาปรินายก ประทานแก่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ที่ทรงสอนให้เข้าใจว่า สุขภาพมนุษย์ย่อมเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ 5 ประการ คือสุขภาพประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ จิตใจ พฤติกรรม และปัจจัยตามธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้  ในทางศาสนาอาจจะเน้นเรื่องจิตและกรรม ส่วนนักวิทยาศาสตร์หรือหมอ ก็มักเน้นแต่เรื่องทางกายและตัวโรค ดังนั้นเมื่อนำมารวมกัน โดยทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ก็จะมีสุขภาวะที่ยั่งยืนได้ ทั้งทางโลกและทางธรรม”

   

        ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรม “1 วัด 1 โรงพยาบาล” โดยใช้โอกาสวันวิสาขบูชาโลก เป็นวันดีเดย์ พร้อมกันทั่วประเทศ ให้ทุกโรงพยาบาลกำหนดเป้าหมายวัดในพื้นที่ เพื่อติดตามดูแลส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุสงฆ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้พระสงฆ์ช่วยเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพไปสู่ประชาชน ผ่านการเทศนาธรรมเพื่อลดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่กำลังเป็นปัญหาของประชากรโลก ทั้งนี้ เป็นไปตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 และเป็นไปตามนโยบายของศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

          ด้านนพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินงานกิจกรรม “1 วัด 1 โรงพยาบาล วันวิสาขบูชา” เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบด้วย การจับคู่อุปถัมภ์วัดอย่างน้อยโรงพยาบาลละ 1 วัด และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค ในวันวิสาขบูชา และต่อเนื่อง โดยถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ เช่น ภัตตาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ ชุดความรู้สำหรับพระสงฆ์ใช้ในการเทศนาแสดงธรรมแนะนำประชาชน การถวายธูป-เทียนไร้ควัน เพื่อลดมลภาวะในวัด การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ การควบคุมสัตว์นำโรค การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สนับสนุนการจัดอบรมอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) และรณรงค์ให้ความรู้อาหารถวายพระ ใส่บาตรพระ ลด หวาน มัน เค็ม แก่ประชาชนที่รอรับบริการผู้ป่วยนอก (OPD)

          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีโรงพยาบาลสงฆ์ ทำหน้าที่ให้การดูแลรักษาพระภิกษุอาพาธทั่วประเทศ ฟรี ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และไม่มีใบเสร็จ ข้อมูลการให้บริการย้อนหลัง 3 ปี   มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 100,000 รูปต่อปี ผู้ป่วยในเฉลี่ย 5,000 รูปต่อปี  อัตราครองเตียงค่อนข้างนานกว่าผู้ป่วยทั่วไปเพื่ออำนวยความสะดวกพระสงฆ์ในการดูแลรักษาและการเดินทาง สำหรับ 5 อันดับโรคที่มาตรวจรักษาผู้ป่วยนอก เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง และข้อเข่าเสื่อม ส่วน

          ผู้ป่วยใน คือโรคต้อกระจก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ท้องร่วง และเบาหวาน และข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ในปี 2560 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพระสงฆ์ ที่เป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 631,258,360 บาท และผู้ป่วยใน จำนวน 288,587,931 บาท

          นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์ของโรงพยาบาลสงฆ์ ล่าสุดในปี 2559 คัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สามเณรทั่วประเทศคัดกรอง 138,715 รูปจากทะเบียนพระสงฆ์ที่มี 348,433 รูป จากวัดทั่วประเทศ 41,142 วัด พบว่า พระสงฆ์กลุ่มสุขภาพดีลดลงเหลือร้อยละ 52.3 จากร้อยละ 60.3 ในปี 2549 พระสงฆ์อาพาธกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 28.5 จากร้อยละ 17.5 ในปี 2549

          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในประเทศไทย พบว่า ครึ่งหนึ่งมีภาวะอ้วนลงพุง จากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ประกอบกับขาดกิจกรรมบริหารกาย เพราะสถานภาพไม่เอื้อต่อทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ขอให้ทำบุญตักบาตรด้วย “ภัตตาหารชูสุขภาพ” ควรประกอบด้วยอาหาร 5 หมู่ เลือกข้าวกล้องสลับข้าวขาว เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันสลับเนื้อปลา ผักต่าง ๆ ผลไม้รสไม่หวาน ประกอบอาหารด้วยวิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ ลด หวาน มัน เค็มหรือทำเป็นน้ำพริกรสไม่จัดมีผักลวกเคียง ไม่ลืมถวายน้ำเปล่า และนม

​​​          สำหรับกิจกรรมบริหารกายที่เหมาะสม ได้แก่ 1.กิจกรรมบริหารกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม งานทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร กวาดลานวัด งานจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ งานก่อสร้าง งานสวน เป็นต้น 2.กิจกรรมบริหารกายแบบใช้แรงต้าน เช่น การดันฝาผนัง การนอนแล้วงอตัวขึ้น การย่อเข่าลุก-นั่งเก้าอี้ เป็นต้น และ 3.กิจกรรมบริหารกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น การก้มตัวใช้มือแตะปลายเท้า การยืดกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวด้านข้าง และบริเวณไหล่เป็นต้น

          นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม  ในวัด ได้แก่ การถวายธูปเทียนไร้ควัน หรือดับธูปทันทีหลังอธิษฐานแล้ว เพื่อลดควันที่มีสารพิษและฝุ่นละอองจากควันธูป การควบคุมสัตว์และแมลงพาหะนำโรคภายในวัดเพื่อป้องกันโรคติดต่อเช่น โรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัขและแมวที่ถูกนำมาปล่อยในวัด ที่สำคัญคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งกรมควบคุมโรคสำรวจพบลูกน้ำยุงลายในศาสนสถานมากถึงร้อยละ 52 ขอให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยการเก็บขยะ ปัดกวาดลานวัด คว่ำภาชนะที่มีน้ำขังลงโคนต้นไม้  ปิดหรือเปลี่ยนน้ำในภาชนะเก็บน้ำทั่วไปและในห้องน้ำ ปลูกสมุนไพรตะไคร้หอมกันยุง และทายากันยุงก่อนนั่งสมาธิเพื่อป้องกันยุงลายกัด และขอให้ประชาชนดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง อย่านำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยที่วัด เพราะจะทำให้พระสงฆ์หรือผู้ที่ไปทำบุญเสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์เลี้ยงที่ท่านนำไปปล่อยได้

****************************************  28 พฤษภาคม 2561

 



   
   


View 591    28/05/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ