กระทรวงสาธารณสุข ตั้งหน่วยแพทย์สนามให้บริการรักษาพยาบาลนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ จ.นครราชสีมา ตลอด 24 ชั่วโมง จัดหน่วยพยาบาลประจำทุกสนามแข่ง และดูแลควบคุมกำจัดยุง แมลงวัน เฝ้าระวัง 8 โรคติดต่อ คุมเข้มความปลอดภัยอาหาร – น้ำดื่มภายในหมู่บ้านนักกีฬา มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานวันละ 200 คน ตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา เจ็บป่วยแล้วกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดและเคล็ดขัดยอก มีนักเทนนิสจากติมอร์ตะวันออก มารักษา 1 ราย จากบาดเจ็บที่เข่า วันนี้ (6 ธันวาคม 2550) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายการแพทย์และอนามัย การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์กิตติ กิตติอำพน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลกรุงเทพ-ราชสีมา ศูนย์บัญชาการการแพทย์และอนามัย ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารบริการนักศึกษา หน้าหมู่บ้านนักกีฬา และศูนย์การแพทย์หมู่บ้านนักกีฬา (Polyclinic) ตั้งอยู่ที่อาคารสุรนิเวศน์ 7 ภายในหมู่บ้านนักกีฬา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล ทั้งในสถานการณ์ปกติและภาวะฉุกเฉิน แก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 6 – 15 ธันวาคม 2550 จากประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ประมาณ 8,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะพักภายในหมู่บ้านนักกีฬา และโรงแรมต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ ส่วนใหญ่จัดในจังหวัดนครราชสีมา มีบางประเภทแข่งขันที่จังหวัดชลบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดการแข่งขัน กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์บัญชาการด้านการแพทย์และอนามัยขึ้น ที่ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจนครราชสีมา และที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีศูนย์บัญชาเฉพาะกิจ 3 แห่ง ประจำที่จังหวัดนครราชสีมา กรุงเทพฯ และชลบุรี โดยได้จัดบริการด้านสุขภาพ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย การควบคุมป้องกันโรค และการดูแลความปลอดภัยอาหาร-น้ำดื่ม แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่ละวันมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปฏิบัติการไม่ต่ำกว่า 200 คน ความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ในด้านการรักษาพยาบาล ได้ตั้งศูนย์แพทย์หรือโพลีคลินิก เป็นโรงพยาบาลสนามย่อยๆ ประจำที่หมู่บ้านนักกีฬา เปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และกายภาพบำบัด จัดหน่วยแพทย์ประจำสนามแข่งขัน โรงแรมที่พัก และศูนย์สื่อมวลชนต่างๆ ใน 3 จังหวัด โดยทุกหน่วยจะมีรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือเวชภัณฑ์ช่วยชีวิตครบครัน ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเครือข่าย รวมทั้งมีระบบส่งต่อทางอากาศ มีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วย 24 แห่ง ซึ่งทีมงานทั้งหมดได้ซักซ้อมแผนความพร้อมเป็นอย่างดี ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยรับบริการที่หน่วยแพทย์แล้ว 365 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดเล็กน้อย และเคล็ดขัดยอก โดยเป็นนักกีฬา 90 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ประจำทีมนักกีฬาและหน่วยต่างๆ ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ.กรุงเทพฯ – ราชสีมา 2 ราย เป็นผู้สื่อข่าวไทย 1 ราย และนักกีฬาเทนนิสจากติมอร์ตะวันออก บาดเจ็บที่หัวเข่าขวาขณะซ้อม 1 ราย เอ็กซเรย์แล้วกระดูกไม่แตก ให้การรักษาฟรี ในด้านการควบคุมป้องกันโรค นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ฉีดสารเคมีพ่นฆ่าแมลงนำโรค เช่น ยุง แมลงวัน แมลงสาบ ได้กำชับให้หน่วยแพทย์เฝ้าระวังโรค และรายงานเร่งด่วนมายังศูนย์บัญชาการทันที ในกรณีพบโรคที่อาจเกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็วแม้เพียง 1 ราย ที่สำคัญ 8 โรค ได้แก่ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตาแดง หัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก รวมทั้งผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือโรคที่เกิดเป็นกลุ่ม เช่น โรคผื่นคัน การบาดเจ็บรุนแรงจากการแข่งขันกีฬา อุบัติเหตุหรือสาธารณภัย โดยได้จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือ เอสอาร์อาร์ที (SRRT) กว่า 10 ทีม พร้อมลงสอบสวนหาสาเหตุการเกิดโรค และควบคุมการระบาดโดยเร็ว จากการเฝ้าระวังโรคตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ยังไม่พบโรคระบาดใดๆ ด้านนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสาขาการแพทย์และอนามัย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการสาขาการแพทย์และอนามัย จังหวัดนครราชสีมา มีทีมงานรับผิดชอบดูแลเรื่องสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วกว่า 10 ทีม พร้อมลงสอบสวนโรคทันทีที่ได้รับรายงานโรคติดต่อ และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ศูนย์การสื่อสารดูแลระบบการสื่อสารทั้งทางวิทยุ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และศูนย์ข้อมูล ซึ่งใช้ระบบข้อมูลของกีฬามหาวิทยาลัยโลกเก็บรวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วย การบาดเจ็บวันต่อวัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารในการสั่งการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับศูนย์การแพทย์หมู่บ้านนักกีฬา ได้จัดบริการเช่นเดียวกับตึกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีแพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน นักกายภาพบำบัด 2 คน เจ้าหน้าที่และคนงาน 2 คนปฏิบัติงาน พร้อมรถฉุกเฉิน 2 คัน ในกรณีผู้ป่วยอาการหนัก หรือต้องการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด จะส่งต่อไปยัง รพ.กรุงเทพ-ราชสีมา หรือรพ.มหาราช นครราชสีมา หากกรณีเร่งด่วนต้องไปรักษาที่กรุงเทพฯ จะมีเฮลิคอปเตอร์นำส่ง นายแพทย์สำเริง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมายังได้คุมเข้มเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ที่ศูนย์อาหารภายในหมู่บ้านนักกีฬา รวมทั้งแม่ค้าที่วางแผงขายบริเวณภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยได้อบรมและตรวจสุขภาพผู้ประกอบการร้านอาหาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งรับผิดชอบทำอาหารในศูนย์อาหารหมู่บ้านนักกีฬา และจะเก็บตัวอย่างอาหารทุกวัน นำไปแช่แข็งไว้ 3 วัน สำหรับใช้ตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หากมีผู้ป่วยท้องเสีย ท้องร่วง และได้จัดรถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หรือโมบายแล็บ (Mobile Lab) ประจำที่หมู่บ้านนักกีฬา เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอาหารและน้ำบริโภค สำหรับร้านอาหารอื่นๆ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีประมาณกว่า 100 ร้าน จะเคร่งครัดควบคุมมาตรฐานตามเกณฑ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย ส่วนผู้ประกอบการผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ทั้งหมด 87 โรงงาน ขณะนี้ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพีทุกแห่งแล้ว จึงไม่น่าห่วงในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ****************************** 6 ธันวาคม 2550


   
   


View 6    06/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ