กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ และมูลนิธินิปปอน อบรมช่างกายอุปกรณ์ทั่วประเทศ เพิ่มพูนความรู้การทำแขนขาเทียม ช่วยเหลือผู้พิการไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ใกล้เคียงกับแขนขาจริงมากขึ้น ขณะนี้มีผู้พิการแขนขาทั่วประเทศ ขึ้นทะเบียนรับการช่วยเหลือเกือบ 350,000 คน เช้าวันนี้ (11 ธันวาคม 2550) ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการชมรมช่างกายอุปกรณ์แห่งประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธินิปปอน ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2550 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทักษะและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตแขนขาเทียมให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โดยมีช่างกายอุปกรณ์จากโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม 184 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ช่างกายอุปกรณ์ เป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความสำคัญในการผลิตและพัฒนาแขนขาเทียม เพื่อใช้ทดแทนอวัยวะที่สูญเสียไป เพื่อให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ใกล้เคียงคนปกติ และประกอบอาชีพได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม ซึ่งปัญหาความพิการของคนไทยที่พบมากที่สุดในขณะนี้คือ การพิการที่แขนขา ซึ่งมีสาเหตุใหญ่มาจากอุบัติเหตุจราจร โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ จากการสำรวจความพิการ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 1.9 ล้านคน อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดจำนวน 772,931 คน รองลงมาคือภาคเหนือ 518,624 คน ภาคกลาง 379,420 คน และภาคใต้ 200,885 คน โดยล่าสุดถึงเดือนกันยายน 2550 มีผู้พิการที่ได้รับการจดทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ การศึกษาและอาชีพแล้ว 721,489 คน หรือประมาณร้อยละ 38 ของผู้พิการทั้งหมด โดยแยกเป็นพิการแขนขา 349,332 คน หูหนวกเป็นใบ้ 98,349 คน สติปัญญาอ่อน 91,992 คน ที่เหลือเป็นผู้พิการตาบอด พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการครบทุกแห่งแล้ว และในปี 2551 นี้ ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในอัตราหัวละ 4 บาท หรือประมาณ 188 ล้านบาท จัดบริการผู้พิการทุกประเภทฟรี โดยเฉพาะการให้บริการผู้พิการแขนขา ได้จัดช่างผลิตแขนขาเทียมประจำการทุกแห่งแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมูลนิธินิปปอน ช่วยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ช่างกายอุปกรณ์สามารถผลิตแขนขาเทียม ที่มีคุณสมบัติทนทาน น้ำหนักเบา ลุยน้ำได้ สามารถใช้ได้ใกล้เคียงกับแขนขาจริงยิ่งขึ้น และลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างดี นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การให้บริการผู้พิการทุกประเภท ยังมีอุปสรรคใหญ่ เนื่องจากผู้พิการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในพื้นที่ชนบท การเดินทางยากลำบาก จึงมักไม่ค่อยเดินทางไปโรงพยาบาล ทำให้ผู้พิการประมาณร้อยละ 60 ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ได้ ในปี 2551 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ หมุนเวียนไปทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนแก่ผู้พิการเหล่านี้ ให้สามารถเข้าถึงบริการได้มากที่สุด ด้าน รศ.นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2535 มูลนิธิขาเทียมฯ ได้จัดหน่วยทำขาเทียมเคลื่อนที่ออกให้บริการแก่ผู้พิการขาขาดที่ยากไร้ในชนบทไปแล้ว 52 จังหวัด 3 ประเทศ รวม 19,002 ขา และได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คิดค้นและพัฒนาวิธีการทำชิ้นส่วนขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศ เพื่อลดต้นทุนและลดการสูญเสียเงินตราประเทศ โดยชิ้นส่วนทุกชิ้นเหมาะสำหรับใช้งานในภูมิประเทศเขตร้อนชื้น และมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ 10-100 เท่า ขณะนี้สามารถทำขาเทียมใต้เข่าได้เสร็จภายใน 1 วัน นอกจากนี้ ยังได้นำขยะอลูมิเนียมมาผลิตเป็นอุปกรณ์ช่วยเดิน ได้แก่ ไม้ค้ำยัน วอล์คเกอร์ และไม้เท้า เป็นต้น สำหรับการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะการทำขาเทียมและกายอุปกรณ์นั้น ตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้จัดการอบรมทางวิชาการไปทั้งสิ้น 38 ครั้ง และจัดประชุมวิชาการอีก 4 ครั้ง โดยช่างกายอุปกรณ์ที่เข้ารับการอบรมและประชุมวิชาการทุกคน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด *********************************** 11 ธันวาคม 2550


   
   


View 6    11/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ