“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการอำนวยการแผนยุทธศาสตร์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานปี 2562 ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 (2562-2568) โครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 ตั้งเป้าหมายอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2575 อัตราการติดพยาธิใบไม้ตับลดลงน้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2568 ปลาปลอดเชื้อน้อยกว่าร้อยละ 1
บ่ายวันนี้ (28 มิถุนายน 2561) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแผนยุทธศาสตร์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 1/2561 ของปีงบประมาณ 2561 และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม สำนักงบประมาณ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานวิจัยแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ตามมติคณะรัฐมนตรี
นายแพทย์เจษฎากล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานในปี 2562 ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 (2562-2568) โครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 ตามยุทธศาสตร์ทศวรรษการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อให้การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเกิดความยั่งยืน และจะผลักดันให้อยู่ในแผนงานปกติ ตั้งเป้าหมายอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2575 อัตราการติดพยาธิใบไม้ตับในคนลดลงน้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2568 ปลาปลอดพยาธิน้อยกว่าร้อยละ 1 ดำเนินงานในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบนและสระแก้ว
แนวทางการดำเนินงานในปี 2562 ประกอบด้วย 1.จัดกิจกรรมอาหารปลอดภัยปลาปลอดพยาธิ 2.ตรวจคัดกรองในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้การรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ พร้อมรักษาพยาธิใบไม้ตับในสุนัข แมวในชุมชน 3.จัดระบบสุขาภิบาล บริหารจัดการสิ่งปฏิกูล เพื่อตัดวงจรพยาธิผ่านเทศบาล อบต. 4.จัดการเรียนการสอน การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในเด็กและเยาวชน 5.การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ พบสงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีส่งต่อรับการตรวจด้วย CT/MRI ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 6.รักษามะเร็งท่อน้ำดีด้วยการผ่าตัด เสริมด้วยเคมีบำบัด 7.ส่งต่อผู้ป่วยกลับชุมชน มีหมอครอบครัวดูแล 8.ติดตามผู้ติดเชื้อพยาธิ ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีแบบ Real time 9.พัฒนานวตกรรมการตรวจพยาธิใบไม้ตับ ศึกษาวิจัยเชิงนโยบายผลกระทบความคุ้มทุนของโครงการในระยะที่ 1
ทั้งนี้ โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบกลุ่มเสี่ยง 6 ล้านคนจากประชาชนประมาณ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุ 40-50 ปี เสียชีวิตปีละมากกว่า 1 หมื่นคน สาเหตุสำคัญมาจากการกินปลาดิบ และผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ตับมากกว่า 20 ปีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งท่อน้ำดี หรือประมาณร้อยละ 10-15 ของมะเร็งทั้งหมด ผลการดำเนินงานระยะ 3 ปีแรก พ.ศ.2559-2561 พบว่า ปลาติดพยาธิใบไม้ตับลดลงจากร้อยละ 70 เหลือเพียงร้อยละ14-20 ประชาชนติดพยาธิใบไม้ตับลดลงร้อยละ 8.2 จากเดิมร้อยละ 17 ต่อปี สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงทั้งพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 913,133 ราย และพบผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรกเข้าสู่กระบวนการรักษาและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง มีชีวิตรอดมากกว่า 1,000 ราย
**************************** 28 มิถุนายน 2561