สาธารณสุข เผยภัยโรคมะเร็ง พุ่งแรงสุดในศตวรรษที่ 21 มีกว่า 100 ชนิด แต่ละปีชาวโลกต้องเสียชีวิตจากโรคนี้เกือบ 8 ล้านคน คาดในอีก 13 ปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน ส่วนไทยขณะนี้มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศ เร่งควบคุมป้องกันโรคมะเร็ง โดยเน้น 4 ปัจจัยหลัก ลดพฤติกรรมเสี่ยงทั้งบุหรี่ อาหาร ออกกำลังกาย การป้องกันโรคเรื้อรังบางตัว และให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงยาต้านมากขึ้น บ่ายวันนี้ (12 ธันวาคม 2550) ที่โรงแรมเรดิสัน กทม. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปีนี้เน้นประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในการรักษาโรคมะเร็งที่ได้มาตรฐานสากลและทันสมัย และเน้นระบบการป้องกันไม่ให้ป่วย เนื่องจากโรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขใหญ่ของโลก เป็นต้นเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตถึงร้อยละ 13 ต่อปี ซึ่งพบว่ามะเร็งร้อยละ 40 สามารป้องกันได้ นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้โรคมะเร็งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี มีมะเร็งมากกว่า 100 ชนิดที่สามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกาย องค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปีมะเร็งคร่าชีวิตชาวโลกเกือบ 8 ล้านคน และคาดว่าปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยอยู่ในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้คาดการณ์ว่าโรคมะเร็งจะเป็นภัยหลักที่คุกคามสุขภาพประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ เนื่องจากประชากรโลกมีอายุยืนยาวขึ้น และมะเร็งส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ และสภาพแวดล้อมมีสารก่อมะเร็งมากขึ้นจากอุตสาหกรรม กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูง สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2542 ล่าสุดในปี 2549 มีคนไทยตายจากโรคมะเร็งทุกชนิด 52,052 ราย อัตราเฉลี่ยแสนละ 83 คน โดยในปีหน้านี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึง 120,000 ราย และในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะพบขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการป้องกัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยประชาชนไทยจากปัญหาโรคมะเร็ง ได้มีพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านมะเร็งแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการแพทย์ไทย และทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลต่อแนวโน้มปัญหาของโรคมะเร็ง โดยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งร้อยละ 40 สามารถป้องกันได้ และลงทุนต่ำกว่าการรักษามาก เน้นที่การรณรงค์ปรับพฤติกรรม 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ ลดการสูบบุหรี่ เหล้า กินอาหารสุขภาพ เพิ่มผักผลไม้ให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม ส่งเสริมการออกกำลังกายให้ได้วันละ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ และการป้องกันโรคที่ทำให้เป็นมะเร็ง ได้แก่ โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ตัวการทำให้เป็นมะเร็งตับ และเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus) ตัวการทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยมอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติและศูนย์มะเร็งภูมิภาคทั่วประเทศ รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในแต่ละภูมิภาค ค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก ตรวจหามะเร็งปากมดลูก (Pap smear) 1 ครั้ง ทุก 5 ปี จะช่วยลดอัตราเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยตรวจฟรีทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มรณรงค์ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปทั่วประเทศที่มี 13 ล้านกว่าคน ให้ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองครั้งแรกและใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2550 ผลดำเนินการตรวจได้ 10 ล้านกว่าคน พบมีก้อนผิดปกติจำนวน 29,260 คน ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนส่งตรวจโดยละเอียดที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้การรักษาต่อไปจนหายขาด ซึ่งโอกาสหายสูงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์หากพบผิดปกติตั้งแต่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งในประเทศไทยที่พบมากที่สุดในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ รองลงมาเป็น ปอด ลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก ช่องปาก/คอหอย และต่อมลูกหมาก ส่วนผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาเป็นเต้านม ตับ ปอด และลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักนี้ กรมการแพทย์มีนโยบายจะทำโครงการระดับชาติในปี 2551 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตรวจหาทางอุจจาระ เพื่อดูระดับภูมิต้านทาน (Immuchemical stool exam) โดยดูเม็ดเลือดขาวที่ปนมากับอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งหากสำเร็จจะสามารถให้การรักษาผู้ที่มีความผิดปกติตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกอย่างได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เสียชีวิตปีละประมาณ 1,500 ราย ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 ที่มาพบแพทย์ เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีแพทย์พยาบาล นักวิชาการต่างๆทั้งภาครัฐเอกชนทั่วประเทศประชุม 600 คน ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งโดยเฉพาะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น องค์กรวิจัยโรคมะเร็งระดับนานาชาติหรือไอเออาร์ซี (IARC : International Agency for Research on Cancer) และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ มาพูดคุยถึงเรื่องการป้องกันโรคมะเร็งในระดับภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกด้วย เพื่อหาแนวทางป้องกันโรคมะเร็งให้เหมาะสมกับประเทศให้ได้ เพื่อประโยชน์ต่อชาวไทยมากที่สุด ********************************** 12 ธันวาคม 2550


   
   


View 7    12/12/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ