กระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลประตำบลแห่งแรกในประเทศขนาด 30 เตียง ลดความแออัดผู้ป่วยที่โรงพยาบาลมหาราช โดยเน้นรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ คือไม่มีแผนกผู้ป่วยนอก แต่เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่าย เพื่อนอนพักรักษาในโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (13 มกราคม 2551) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เป็นประธานพิธีเปิดโรงพยาบาลหัวทะเล ต.หัวทะเล อ.เมือง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำตำบลรูปแบบพิเศษแห่งแรกของประเทศ มีขนาด 30 เตียง จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นประธานวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ขนาด 200 เตียง ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ต.โคกกรวด อ.เมือง เพื่อขยายการบริการ ลดความแออัดและการรอคิวตรวจของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครราชสีมา ใช้งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จากการประเมินการให้บริการของโรงพยาบาลศูนย์ พบว่าแต่ละแห่งมีภาระงานหนักมาก เนื่องจากประชาชนมีความต้องการรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลใหญ่ที่มีศักยภาพ มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอ ทันสมัย จนเกิดความแออัดของผู้ป่วยนอก เช่น ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละประมาณ 3,000 ราย กว่าร้อยละ 80 ป่วยด้วยโรคทั่ว ๆ ไป ที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่มากทำให้แพทย์มีเวลาตรวจน้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ต้องการการดูแลที่ยุ่งยากซับซ้อน บริการจึงอาจไม่ทั่วถึง คุณภาพบริการลดลง ทำให้ผู้รับบริการเกิดความไม่พึงพอใจในความไม่สะดวกต่าง ๆ และการรอตรวจนานเกินไป
ในการแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ บริการประทับใจ ไร้ความแออัด พัฒนาเครือข่ายบริการ เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการให้สะดวกรวดเร็วขึ้น นำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ 13 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลสงขลา เริ่มดำเนินการในปี 2549 2551 โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดผลดีต่อประชาชนมากที่สุด เสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งของสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน นอกจากจะให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยเล็กๆ น้อย ๆ แล้ว ยังสามารถให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องตรวจและกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หอบหืดได้ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ รวมทั้งเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่าง ๆ ดูแลคนปกติไม่ให้ป่วย ขณะนี้ทุกจังหวัดมีความคืบหน้าอย่างมาก
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ต้องขอชื่นชมจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก ที่คิดค้นพัฒนารูปแบบบริการประชาชนที่ตำบลหัวทะเล ในการลดความแออัดของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอย่างเป็นระบบ มีการประสาน
ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชนในพี้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพัฒนาโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ เป็นแห่งแรกที่ไม่มีแผนกผู้ป่วยนอก รับเฉพาะผู้ป่วยใน ผู้ป่วยหลังผ่าตัดและนอนพักฟื้น ใช้ศูนย์แพทย์ชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนในเครือข่ายเป็นแผนกผู้ป่วยนอกและตั้งอยู่ในชุมชนอยู่ใกล้บ้านแทน ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่สถานบริการสาธารณสุขระดับต้น และพัฒนาเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ รวมทั้งได้เตรียมก่อสร้างโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 แห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนรับบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น
ด้านร้อยเอกนายแพทย์วรัญญู สัตยวงศ์ทิพย์ รักษาการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า
ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา ไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอเมือง ผู้ป่วยจึงใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ทำให้ผู้ป่วยแออัดมาก บางครั้งต้องนอนตามทางเดิน หน้าลิฟต์ นอนเบียดกัน 3 คนใน 2 เตียง หรือนอนพื้น ในปลายปี 2549 จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาโรงพยาบาล บริการประทับใจ ไร้ความแออัด พัฒนาเครือข่ายบริการ โดยพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนให้มีความพร้อมและยกฐานะเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองในเครือข่าย รพ.มหาราชนครราชสีมา มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ให้บริการตรวจรักษาตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แพทย์ชุมชน(ศพช.)ศีรษะละเริง ศพช.โพนสูง ศพช.มะค่า ศพช.หนองปลิง ศพช.หัวทะเล ศพช.วัดบูรพ์ ศพช.โนนฝรั่ง และศพช.วัดป่าสาละวัน
สำหรับโรงพยาบาลหัวทะเล ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลหัวทะเลให้ใช้อาคารเก่าของเทศบาลตำบลหัวทะเล และสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมงบประมาณ 4.6 ล้านบาท รวมทั้งจ้างพนักงานลูกจ้างเทศบาล รวม 13 ตำแหน่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาสนับสนุนบุคลากร ได้แก่ แพทย์ 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 7 คน วัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์และสำนักงาน 3 ล้านบาท และได้รับบริจาคเตียงจากสมาคมชาวไต้หวันในประเทศไทยจำนวน 30 เตียง ผลการดำเนินงานภายหลังเปิดดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม - ธันวาคม 2550 รับผู้ป่วยพักรักษาตัว 115 ราย ส่วนที่ศูนย์สุขภาพชุมชน มีประชาชนที่ป่วยฉุกเฉิน หรือป่วยทั่วไปเข้ารักษารวม 812 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ประมาณ 20 เปอร์เซนต์
************************************ 13 มกราคม 2551
View 14
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ