รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เขตสุขภาพที่ 6 ยึดปัญหา (pain points) เป็นสำคัญ แล้วค่อยนำร่องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาระบบบริการ ชื่นชมโรงพยาบาลสมุทรปราการ นำระบบการจัดการแบบลีน ร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ Block Chain ข้อมูลปลอดภัย เชื่อมโยงทุกรพ.ในจังหวัด

          วันนี้ (5 สิงหาคม 2562) ที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เขตสุขภาพที่ 6 ว่ากระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้สถานบริการในสังกัดนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการ ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ลดความแออัด โดยนำร่องในจังหวัดเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งมีจังหวัดที่เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมุทรปราการ พบว่ามีการดำเนินงานที่ได้ผลเป็นรูปธรรม ได้นำแนวคิดการบริหารจัดการแบบลีน (Lean Management) โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดการใช้กระดาษ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการ เป็นต้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยี Block Chain มาพัฒนาระบบฐานข้อมูลบริการอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วย (HIE) อาทิ ผลทางห้องปฏิบัติการ ผลเอ็กซเรย์ ยา การวินิจฉัยโรค และประวัติการรักษาที่เป็นปัจจุบัน มีระบบรักษาความปลอดภัย เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลสมุทรปราการกับโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 71 แห่ง โดยผู้ป่วยถือกุญแจข้อมูลของตนเอง และเป็นผู้ให้สิทธิ์กับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัย ระบบการส่งต่อมีประสิทธิภาพ แพทย์ได้รับข้อมูลการรักษาถูกต้อง

          และยังประยุกต์ใช้ Telepharmacy สั่งยาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เสียงสั่งพิมพ์ และสั่งยาจากโรงพยาบาลได้ที่ รพ.สต. โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นคนซักประวัติ และให้ข้อมูลบริการผู้ป่วยถึงบ้าน ประชาชนเข้าถึงการรักษา ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดความแออัดของโรงพยาบาลสมุทรปราการ สามารถลดขั้นตอนบริการได้เกือบ 4 เท่าตัว ขณะที่บริการยังคงมีคุณภาพมาตรฐาน

          ด้านแพทย์หญิงฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมุทรปราการ ได้นำแนวคิดการจัดการแบบลีนร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในระบบสุขภาพของโรงพยาบาล พร้อมกับการออกแบบขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่และการจัดการเอกสารที่เหมาะสม ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่เร็วขึ้นจาก 440 นาที เหลือเพียง 120 นาที นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากรในการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่มีความสุขและเกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน และผลจากการทำงานทำให้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในเวที Thailand Lean Award 2019 และรับรางวัล “GOLDEN AWARD” จากสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งแรกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับรางวัลนี้

*************************** 5 สิงหาคม 2562

 



   
   


View 1614    05/08/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ