“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์” บูรณาการการบังคับใช้กฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.การเดินอากาศ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้ป่วยฉุกเฉิน ในการรับส่งผู้ป่วย ณ ที่ขึ้นลงนอกเขตสนามบิน
วันนี้ (28 สิงหาคม 2562) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธี ลงนามความร่วมมือ “การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS)” ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบิน
พลเรือน (กพท.)
นายอนุทินกล่าวว่า การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ส่วนมากอยู่ในภาคเอกชน ส่วนภาครัฐทำมากว่า 10 ปี ที่เรียกว่า “Thai Sky Doctor” หรือการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน เป็นการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วน อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นผู้จัดให้มีระบบการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ กระทรวงสาธารณสุขมีส่วนสนับสนุนด้านบุคลากรทีมการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความเชี่ยวชาญกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ กระทรวงกลาโหมสนับสนุนอากาศยานจากทุกเหล่าทัพ และภาคเอกชนช่วยสนับสนุนภารกิจ การลงนามความร่วมมือในวันนี้ สพฉ. และ กพท. ได้จัดทำข้อตกลง เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการช่วยเหลือหรือการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เรื่อง “การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์” และพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกัน ภายใต้เจตนารมณ์ "คนไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการ รักษาอย่างดีที่สุด ทั่วถึง เท่าเทียม และได้มาตรฐาน
ด้านเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 เริ่มปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศ จนถึง 17 สิงหาคม 62 มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานแล้ว 357 ครั้ง และสถิติการรอดชีวิตสูงมาก และจากสถิติการปฏิบัติงานพบว่า ผู้ที่รับบริการเป็นผู้ป่วยวิกฤติ อาทิ โรคทางสมอง ระบบหายใจ และอุบัติเหตุรุนแรง ซึ่งโรงพยาบาลในที่ห่างไกลหลายแห่งอาจไม่มีแพทย์เฉพาะ หากส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางบก เพื่อไปโรงพยาบาลที่พร้อมกว่าอาจไม่ทันเวลา และเสียชีวิตกลางทาง หรือพิการ เช่น หากต้องใช้รถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ต้องใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง แต่หากใช้การลำเลียงทางอากาศยานจะใช้เวลาเพียง 30 นาที
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มการคุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ณ ที่ขึ้น-ลง นอกเขตสนามบิน และเพื่อให้การปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน มีตัวบ่งชี้ในการขอรับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่ถูกต้อง มีการปฏิบัติการบินภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสากล ที่สำคัญมีมาตรฐานบุคลากรและมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อผลประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตของประชาชน ขจัดปัญหาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และประโยชน์ของผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นสำคัญ
*********************************** 28 สิงหาคม 2562
****************************************