“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ให้สถานบริการในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักจากพายุโซนร้อน “โพดุล” เพื่อให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ตรวจพบมีสถานบริการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงจำนวน 211 แห่ง ใน 15 จังหวัด
วันนี้ (30 สิงหาคม 2562) ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการเตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักในบางพื้นที่จากพายุโซนร้อนโพดุล ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ดังนี้ 1.ให้สถานบริการทุกแห่งในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด สำรวจความแข็งแรงของอาคาร หลังคา ป้าย สิ่งก่อสร้างที่เป็นอันตราย ซ่อมแซมให้มีความปลอดภัย ตรวจสอบระบบระบายน้ำ เตรียมระบบไฟฟ้าสำรอง ขนย้ายเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่สูง 2.จัดเตรียมบุคลากร เครือข่าย อสม.สำหรับการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมชุดยาเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ช่วยเหลือประชาชนให้เพียงพอ 3.เตรียมแผนการจัดบริการนอกสถานที่และแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อดูแลประชาชน กรณีสถานบริการถูกน้ำท่วม หรือการเดินทางประชาชนลำบาก 4. วางแผนจัดที่พักสำรองสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีน้ำเริ่มเข้าเขตบริเวณโรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด สกลนคร อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ได้ใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกตลอดเวลา
“ขอให้ทีมหมอครอบครัว และอสม. สำรวจผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังป้องกันการขาดยา ให้สถานพยาบาลเตรียมแผนให้บริการอย่างต่อเนื่อง และดูแลประชาชนป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ขอกำชับให้สถานบริการทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่หากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนติดต่อกองสาธารณสุขฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งได้สำรองชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้พร้อมแล้ว ” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ได้ทำการสำรวจสถานบริการสาธารณสุขที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พบมีความเสี่ยงสูง 211 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหารร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ตราด จันทบุรี ระนอง พังงาและภูเก็ต โดยเป็นโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 6 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 28 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 159 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ 18 แห่ง
******************************** 30 สิงหาคม 2562