กระทรวงสาธารณสุข เผยเร่งพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เร่งพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล เล็งใช้เครื่องมือแพทย์ไฮเทค เช่น เครื่องเอ็มอาร์ไอ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ครอบคลุมและดีที่สุด แม้มีข้อจำกัดในเรื่องงบและบุคลากร ตั้งเป้าประชาชนพึงพอใจในการบริการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2551) ที่โรงแรมนิวแทรเวิลบีช รีสอร์ท หาดเจ้าหลาว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่และเก่าจำนวน 90 คน เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การบริหารโรงพยาบาลในปีงบประมาณ 2551
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ทั้งหมด 95 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลประชาชนจากทุกอำเภอในพื้นที่ ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยใช้ระบบการส่งต่อ ต่อปีจะรับผู้ป่วยนอนรักษาตัวประมาณร้อยละ 40-45 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยนอกพบมีผู้ใช้บริการเพิ่มจากร้อยละ 18 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 20 จะต้องเร่งพัฒนาโรงพยาบาลทั้ง 2 ระดับนี้ให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน ไม่ต้องเดินทางไปรักษาต่อที่อื่น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์การบริหารโรงพยาบาลในปัจจุบันและอนาคต กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการใช้ความรู้ เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงซึ่งมีราคาแพงและบุคลากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม มีคุณภาพ ตั้งแต่การดูแลรักษาในระดับสถานีอนามัย จนถึงโรงพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตลอดจนการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายในปี 2551 ไว้ว่า จะสร้างความพึงพอใจประชาชนที่ใช้บริการอย่างน้อยร้อยละ 80 ของการให้บริการ
ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้เครื่องมือแพทย์ไฮเทคในการตรวจรักษาโรค ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ต่อปี ในปี 2548 ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ไฮเทคมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องสลายนิ่ว เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เครื่องตรวจมะเร็งเต้านม ซึ่งการใช้เครื่องมือดังกล่าวกำหนดให้ 1 เครื่องต่อประชากร 1 ล้านคน แต่เครื่องมือส่วนใหญ่ยังมีการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ และอยู่ในภาคเอกชนมากกว่ารัฐ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั่วประเทศมีทั้งหมด 343 เครื่อง ในจำนวนนี้ร้อยละ 82 อยู่ในภาคเอกชน เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามีทั้งหมด 45 เครื่อง ร้อยละ 66 อยู่ในภาคเอกชน เครื่องตรวจมะเร็งเต้านมมีทั้งหมด 152 เครื่อง ร้อยละ 70 อยู่ในภาคเอกชน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะใช้ระบบร่วมจ่ายกับภาคเอกชน ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
*******************************19 กุมภาพันธ์ 2551
View 12
19/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ