กระทรวงสาธารณสุข เร่งเดินหน้าออกกฎกระทรวงเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังกฎหมายแม่ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะระบุทั้งการจำหน่าย การบริโภค และหลักเกณฑ์การโฆษณา โดยคุมเข้มแหล่งขายที่เยาวชนเข้าถึงง่าย เช่น ในลักษณะเหล้าปั่น เหล้ายาดอง นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งดำเนินการเรื่องการออกกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบตามมาตราต่าง ๆ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหา เพื่อใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้เป็นไปตามกฎหมายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นผู้ลงนาม แตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า สาระของกฎกระทรวงดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการควบคุมการจำหน่ายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ในเรื่องกำหนดเวลา สถานที่ และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งหลักเกณฑ์การโฆษณาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในเรื่องของการจำหน่ายสุรา จะมีการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสุราที่ขายในรูปเหล้าปั่น เหล้ายาดอง หรือการเร่ขาย ตามรถเข็นเหล้าปั่นในตลาดนัด และห้ามขายโดยใช้เครื่องอัตโนมัติ ซึ่งทำให้เยาวชนเข้าถึงง่าย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม ปัญหาสังคม และความสูญเสียต่างๆ ตามมา ในระหว่างนี้ จะเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่พระราชบัญญัติฯ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เวปไซต์ และจัดประชุมชี้แจงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐเอกชนในส่วนกลางและภูมิภาค โดยสามารถดาวน์โหลด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ฉบับที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้ที่ www.thaiantitobacco.com หรือ www.thaiantialcohol.com และกำลังจัดแปลกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษด้วย “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ของกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อเสริมกับกฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่หลายฉบับ โดยเน้นการคุ้มครองเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค คำนึงถึงและปฏิบัติตามกฎหมายฉบับอื่น ๆ ด้วย เช่น พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกาศกรมประชาสัมพันธ์เรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 เรื่องการกำหนดเวลา สถานที่ การจำหน่ายและบริโภคสุรา ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่” นายแพทย์สุพรรณกล่าว ************************************ 20 กุมภาพันธ์ 2551


   
   


View 9    20/02/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ