“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือส่งตำรวจป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ พร้อมสั่งการทุกจังหวัด แจ้งความดำเนินคดีทุกราย ไม่มีข้อยกเว้น เพื่อเป็นการป้องปราม ไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวซ้ำ
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2562) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ดร.สาธิต กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาล ได้มอบหมายให้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ให้ทำความเข้าใจกับทุกจังหวัด มีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ให้สังคมทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดเหตุ รวมทั้งหากเกิดเหตุแล้ว จะระงับไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ในปี 2562 มีเหตุการณ์ความรุนแรง เกิดในโรงพยาบาล 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อ่างทอง ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทุกแห่งได้แจ้งความดำเนินคดี ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยที่ รพ.บางสะพานน้อย มีการตัดสินคดีแล้ว มีการจำคุกผู้ก่อเหตุ 8 เดือน และ 10 เดือน โดยโรงพยาบาลที่เกิดเหตุทั้งหมด ได้มีระบบป้องกันการเกิดเหตุ อาทิ ระบบประตูห้องฉุกเฉิน 2 ชั้น การจัดทำตู้แดงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้มีข้อสั่งการไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดังนี้ 1. ได้ส่งหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขอความร่วมมือ ป้องกันเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาลเป็นการเฉพาะ ให้สั่งการเป็นนโยบายเพื่อให้มีการปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน หากเกิดเหตุทะเลาะวิวาท และมีผู้เข้ารับการรักษา โรงพยาบาลจะแจ้งเหตุไปยังสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งทางตำรวจต้องส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุ 2. การป้องปรามการเกิดเหตุซ้ำ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบเป็นนโยบายให้ทุกจังหวัด ประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง ขอให้มีการลงโทษผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาด ให้หลาบจำ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม
สำหรับการดำเนินการมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการมี 3 ด้าน ดังนี้ ด้านอาคารสถานที่ ให้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัย 24 ชั่วโมงตรวจสภาพกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งานและติดตั้งเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง จัดระบบควบคุมประตู ได้แก่ ประตูทางเข้า-ออก ประตูห้องฉุกเฉิน 2 ชั้น ช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ รวมถึงจัดสถานที่พักคอยญาติที่เหมาะสม ด้านการรักษาความปลอดภัย จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและจัดการควบคุมความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อลดความวิตกกังวล จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยหรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่าง ๆ ในพื้นที่ และด้านกฎหมาย ให้ดำเนินคดีคดีอาญากับผู้ก่อเหตุใช้ความรุนแรงทะเลาะวิวาททุกราย ไม่มีการยกเว้น
******************************* 18 พฤศจิกายน 2562
*******************************