กระทรวงสาธารณสุข เร่งเดินหน้าทดลองผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เตรียมพร้อมพึ่งตนเองหากมีการระบาดใหญ่ ขณะนี้สามารถผลิตวัคซีนจากสายพันธุ์แรก และอยู่ระหว่างการทดลองจากอีก 2 สายพันธุ์ ก่อนนำไปผลิตเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำเร็จรูป เพื่อใช้ทดสอบในปลายปีนี้ คาดคนไทยได้ใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เมดอินไทยแลนด์มาตรฐานสากลในอีก 3 ปี โดยในปีนี้จะเริ่มขยายบริการฉีดวัคซีนป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวเป็นปีแรก โดยจัดสรรงบจาก สปสช.จัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ 4 แสนโด๊ส ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
เช้าวันนี้ (5 มีนาคม 2551) ที่จังหวัดนครปฐม นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศิวิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งดำเนินการที่ อาคารปฏิบัติการควบคุมและประเมินคุณภาพทางเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีความพร้อมทั้งสถานที่ บุคลากร ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ มีความปลอดภัยสูง ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกหรือประกาศกรมอนามัยว่าด้วยเชื้อหรือสารก่อโรค
นายไชยา กล่าวว่า โครงการนำร่องผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การเภสัชกรรมครั้งนี้ เป็นความหวังของประเทศไทยมาก ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ไว้ใช้เองเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในขณะนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากเกิดการระบาดใหญ่ไทยจะไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ โดยบริษัทที่มีความสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่เกิดการระบาดใหญ่ เกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม มีกำลังการผลิตเพียงปีละ 350 ล้านโด๊ส ไม่เพียงพอใช้กับคนทั่วโลกที่มีกว่า 6,000 ล้านคน ไทยจึงต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัย ความมั่นใจคนไทยทั้งประเทศหากโรคไข้หวัดใหญ่มีการระบาดใหญ่
นายไชยา กล่าวต่อไปว่า โครงการผลิตวัคซีนนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกเป็นเงิน 1,996,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 80 ล้านบาท จากการตรวจเยี่ยมขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาจนได้วัคซีนสายพันธุ์แรกที่ได้มาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลกแล้ว อยู่ระหว่างการทดลองผลิตวัคซีนอีก 2 สายพันธุ์ เพื่อนำไปผลิตเป็นวัคซีนสำเร็จรูป คาดว่าจะทดลองผลิตได้ในปลายปีนี้ประมาณ 5,000-10,000 โด๊ส ซึ่งจะต้องนำไปใช้ทดสอบทางคลินิก เพื่อวิจัยในคนเป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนด และนำไปขึ้นทะเบียนวัคซีนจาก อย. พร้อมที่จะต่อยอดสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมในอีก 3 ปี
นายไชยา กล่าวต่ออีกว่า ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่กลุ่มเสี่ยงเช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่ต้องสัมผัสสัตว์ปีก เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด และป้องกันการข้ามสายพันธุ์ระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกที่อาจเกิดขึ้นในขณะดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกหรือกำจัดสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก
ช่วงที่รอวัคซีนผลิตในไทย กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มขยายบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยในปีนี้ได้มอบนโยบายให้กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขยายการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนทั่วไป โดยเริ่มที่กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังประจำตัว ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวาย โรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาเคมีบำบัดจำนวนประมาณ 400,000 คน ใช้งบ 100 ล้านบาท เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจะรณรงค์ฉีดพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทย คาดว่าแต่ละปีไทยมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ 700,000-900,000 ราย ในจำนวนนี้จะมีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลประมาณ ปีละ 12,575-75,801 ราย และมีอัตราป่วยตายที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงถึงร้อยละ 2.5 ก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล คิดเป็นมูลค่า 913-2,453 ล้านบาทต่อปี โดยครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้จะพบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่ในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคสูงจากการมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ร้อยละ 70-90 และมีความปลอดภัยสูง วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันโรคได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังฉีด และต้องฉีดต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลา แนวโน้มประเทศไทยมีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มากขึ้น นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
ด้านนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตในโครงการนำร่องเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล มีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะได้วัคซีน 3 สายพันธุ์เพื่อนำไปผลิตวัคซีนสำเร็จรูป ขณะนี้ได้วัคซีนสายพันธุ์แรกแล้ว และอยู่ระหว่างการทดลองผลิตวัคซีนจากอีก 2 สายพันธุ์ หากผ่านกระบวนการศึกษาทางคลินิกแล้ว จะสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ โดยจะสร้างโรงงานผลิตที่ตำบล ทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำนวน 100 ไร่ ขณะนี้ได้เริ่มออกแบบโรงงานแล้ว ใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง ครม.อนุมัติตามแผนยุทธศาสตร์ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ฯ ฉบับที่ 2 ทั้งหมด 1,411.7 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มลงเสาเข็มในกลางปีนี้
โรงงานนี้จะมีกำลังผลิตปีละ 2 ล้านโด๊ส เริ่มแรกจะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อตายก่อน แต่หากเกิดการระบาดใหญ่ องค์การเภสัชกรรมจะใช้เทคโนโลยีผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เชื้อเป็น ซึ่งจะได้ผลผลิตวัคซีนมากกว่าเชื้อตายถึง 30 เท่า ประมาณ 60 ล้านโด๊ส ระยะเวลาดำเนินการ 3-4 ปี โดยจะใช้เวลาการศึกษาทางคลินิก และขึ้นทะเบียน 1-1.5 ปี คาดว่าจะมีวัคซีนออกสู่ตลาดได้ประมาณต้นปี 2556 โรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อีกด้วย เนื่องจากใช้ระบบการผลิตเดียวกัน โดยองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้จัดหาเชื้อไข้หวัดนกมาให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการต่อไป นายแพทย์วิทิต กล่าว
**************************** 5 มีนาคม 2551
View 9
05/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ