กระทรวงสาธารณสุข ย้ำจุดยืนในการปกป้องสิทธิประโยชน์ประชาชน ยังเดินหน้าทำซีแอลยารักษามะเร็ง 4 ตัวต่อไป ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเร่งขยายบริการเชิงรุก ทั้งการค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็ง 4 ตัว ว่า วันนี้ได้รับข้อมูลเรื่องการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ยา จากนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นมิสเตอร์ซีแอล ได้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมดว่า สามารถประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงจะเดินหน้าทำซีแอลต่อไป เพราะจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขคือ ผู้ป่วยต้องเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ในราคาถูก แต่อาจมีการต่อรองราคายาให้ต่ำกว่านี้ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
นายไชยากล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต นำข้อมูลเสนอนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ ในวันพรุ่งนี้ (11 มีนาคม 2551) และพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับนายนิมิตร เทียนอุดม ผู้แทนองค์กรเอกชน หรือ เอ็น จี โอ (NGO) แล้ว สรุปว่าสิ่งที่ เอ็นจีโอ ต้องการก็คือกลัวว่าผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จึงขอยืนยันให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าผู้ป่วยจะเข้าถึงยา และกระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 ตัวต่อไป
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล กล่าวว่า นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายชัดเจนให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพดี เพื่อยืดอายุให้ยืนยาวขึ้น ซึ่งกระแสข่าวจากผู้เกี่ยวข้องที่ผ่านมาว่าจะยกเลิกการทำซีแอลนั้น เป็นการนำเสนอที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง ทำให้เกิดความสับสนในสังคม กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนที่ชัดเจน คือปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในเบื้องต้นจำนวนผู้ป่วยและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีฐานข้อมูลหลายแห่ง จึงมีนโยบายให้ทบทวนเรื่องซีแอล และตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับยาต้านมะเร็งที่มีการใช้สิทธิโดยรัฐ หลังจากได้ข้อมูลจากคณะทำงานดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้เดินหน้าซีแอลยามะเร็ง 4 ตัวต่อไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจร ตั้งแต่การป้องกัน การรักษา ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงร้อยละ 80-90 โดยเร่งค้นหามะเร็งตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่ปรากฏอาการ และรักษาโดยการผ่าตัดเซลล์มะเร็งทิ้ง หรืออาจทำผ่าตัดควบคู่กับการฉายรังสีป้องกันมะเร็งลุกลาม การให้ยาเคมีบำบัด และยาเสริมการรักษาช่วยชะลอการลุกลามของเซลล์มะเร็งตามที่ประกาศในซีแอล ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย แต่ปัญหาที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคมะเร็งร้อยละ 80 มาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ ซึ่งเซลล์มะเร็งลุกลามออกไปแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลน้อยมาก โอกาสรอดชีวิตน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไป เสียชีวิตปีละกว่า 50,000 คน อัตราตายแสนละ 83 คน สูงที่สุดในกลุ่มของโรคเรื้อรัง จึงจะต้องปรับระบบบริการ โดยเน้นเชิงรุก ออกค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด
ในปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ตรวจมะเร็งเต้านมในหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมี 13 ล้านคนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ตรวจพบความผิดปกติประมาณ 29,260 คน หรือร้อยละ 0.3 ได้ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หรือหากจำเป็นต้องฉายรังสี จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในเรื่องการจัดบริการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะดำเนินการภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ ขณะนี้ไม่ห่วงเรื่องแพทย์ผ่าตัด เนื่องจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการทำผ่าตัดอยู่แล้ว และไม่ห่วงเรื่องยารักษา แต่สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาคือ การดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร โดยจะเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศมาปรึกษาหารือ เพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศต่อไป
************************************ 10 มีนาคม 2551
View 9
10/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ