สาธารณสุข ชี้โรคทางเดินหายใจที่เกิดที่ฮ่องกง เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่โรคซาร์ส เตือนผู้ที่จะเดินทางไปฮ่องกง ให้เตรียมร่างกายให้แข็งแรง หมั่นล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลล้างมือ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ชี้สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในไทยขณะนี้พบเพียงร้อยละ 6 แนะผู้ที่เป็นหวัด ไอ จาม ควรคาดหน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในไทยปีนี้พบแล้วกว่า 2,000 ราย เสียชีวิต 2 ราย น้อยกว่าปีที่แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ในเดือนมิถุนายน 2551 นี้ จากกรณีที่มีข่าวสาธารณสุขฮ่องกง เผยว่านับจากวันหยุดเทศกาลอิสเตอร์ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงขณะนี้ ได้รับรายงานเชื้อหวัดระบาดในโรงเรียน 57 แห่ง มีผู้ได้รับเชื้อเกือบ 500 คน โดยมีเด็กล้มป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัด 35 คน และมีเด็กวัย 7 ขวบ เสียชีวิต ประชาชนแตกตื่นแห่ซื้อทามิฟลู และวิตกกังวลถึงโรคทางเดินหายใจฉับพลันหรือซาร์สกำลังกลับมา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยันการระบาดครั้งนี้ไม่ใช่ซาร์ส นั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมการควบคุมภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข ที่กรมควบคุมโรคว่า จากการประสานงานกับองค์การอนามัยโลก พบว่าเชื้อโรคทางเดินหายใจต้นเหตุที่พบในฮ่องกงเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่เชื้อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส ซึ่งการปิดโรงเรียนในฮ่องกง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นมาตรการป้องกันควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดในวงกว้าง เนื่องจากมีเด็กนักเรียนป่วยเป็นกลุ่ม จำนวนมาก ต้องหยุดเรียนรักษาตัวจนกว่าจะหายป่วย โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่พบได้ตลอดปี มักแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเชื้อที่พบในอ่องกงเป็นเชื้อ เอช 3 เอ็น 2 (H3N2) อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปฮ่องกงในช่วงนี้ ขอให้เตรียมสุขภาพให้แข็งแรง ให้ล้างมือบ่อยๆ หรืออาจนำเจลล้างมือติดตัวไปด้วย ล้างมือแทนน้ำกับสบู่ก็ได้ ซึ่งการล้างมือจะสามารถกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือออกไปได้ถึงร้อยละ 80 นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจ และเด็ก หากป่วยอาการจะรุนแรง โดยเฉพาะโรคปอดบวมซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โรคนี้ติดต่อกันทางหายใจ โดยเชื้อจะปะปนมากับละอองเสมหะ น้ำลายจากการไอ จามรดกัน เชื้อสามารถฟุ้งกระจายในอากาศในระยะ 1-5 เมตร นอกจากนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่ ยังสามารถติดต่อกันโดยการใช้สิ่งของหรือจับต้องสิ่งของที่เปื้อนน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ โทรศัพท์ ลูกบิดประตู หรือรับประทานอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลาง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด ไอ จาม คัดจมูก มีเสมหะมาก รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ และล้างมือทุกครั้งหลังสั่งน้ำมูกหรือไอจาม ก่อนและหลังดูแลผู้ป่วย หลังจับต้องหรือเล่นกับสัตว์ ก่อนรับประทานอาหาร สำหรับผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือเป็นไข้หวัดทั่วๆไป ขอให้สวมหน้ากากอนามัย และไม่ใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 จนถึงต้นเดือนมีนาคม 2551ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2,289 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยในเดือนมกราคม พบผู้ป่วย 1,256 ราย เสียชีวิต 1 ราย เดือนกุมภาพันธ์ 966 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในเดือนมีนาคมนี้พบผู้ป่วยแล้ว 67 ราย ขณะที่ในปี 2550 ตลอดปีป่วย 17,130 ราย เสียชีวิต 9 ราย โดยในเดือนมกราคม มีผู้ป่วย 1806 ราย เสียชีวิต 5 ราย เดือนกุมภาพันธ์ป่วย 1,923 ราย เสียชีวิต 1 ราย เดือนมีนาคม ป่วย 1251 ราย เสียชีวิต 2 ราย เมื่อเปรียบเทียบแล้วปีนี้รุนแรงน้อยกว่า โดยจากการเฝ้าระวังเชื้อทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอช 3 เอ็น 2 (H3N2) ร้อยละ 6 ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อื่น และไม่พบเชื้อไข้หวัดนก นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ในเดือนมิถุนายน 2551 นี้ กรมควบคุมโรค จะรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคไต โรคหัวใจ ซึ่งจัดว่าเป้นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และมีโรคประจำตัว หากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีอาการรุนแรง การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นการฉีดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ หากป่วยจะลดความรุนแรงได้ สำหรับผลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2551 มีผู้ป่วยสะสม 257 ราย จาก 54 จังหวัด มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบที่อยู่ระหว่างการสอบสวน และรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 5 ราย ********************************* 13 มีนาคม 2551


   
   


View 9    13/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ