รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งใกล้ชิดกับคนในชุมชน เข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ ป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงและพื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำหากพบไก่ป่วยหรือตาย ห้ามจับไก่ด้วยมือเปล่าหรือนำมากินอย่างเด็ดขาด
เช้าวันนี้ (15 มีนาคม 2551) ที่จังหวัดอุบลราชธานี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมสุขภาพ 30 ปีสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ที่เสียสละทำงานเพื่อประชาชน รวมทั้งเป็นการรวมพลังอสม.ในการรณรงค์ด้านสุขภาพ พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่อสม.ดีเด่นระดับจังหวัดและระดับอำเภอ 10 คน เนื่องในวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ปี 2551 ของจังหวัดอุบลราชธานี โดย มีอสม.เข้าร่วมงานกว่า 8,000 คน
นายไชยากล่าวว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีประชาชนอาสาตัวเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขมากที่สุดกว่า 8 แสนคน ถือเป็นพลังทัพภาคประชาชนเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแก้ไขและพัฒนาระบบการสาธารณสุขในประเทศให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้หลายเรื่อง ที่เป็นที่ยอมรับระดับโลกได้แก่การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก จนถึงขณะนี้ไม่พบการติดเชื้อในคนมานาน กว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์การป่วยตายในสัตว์ปีก ยังไม่น่าไว้วางใจทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เสี่ยงต่อการระบาดข้ามแดน ได้กำชับสั่งการให้ให้มิสเตอร์ไข้หวัดนกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกตามแนวชายแดน 30 จังหวัด ร่วมกับผู้นำชุมชนและอสม.ทำการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง ที่มีรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก หรือพื้นที่ที่พบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ แม้ว่าจะไม่รู้ผลการตรวจยืนยันโรคไข้หวัดนกก็ตาม ขอให้เน้นการป้องกันการติดเชื้อในคนอย่างเข้มข้นไว้ก่อน
นายไชยา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องช่วยกันป้องกันอย่างเต็มที่คือ การป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์ ของเชื้อไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในคน เนื่องจากหากเกิดขึ้นเมื่อใด จะสร้างความสูญเสียเป็นอันมาก ทั้งชีวิตและเศรษฐกิจ ขณะนี้โรคไข้หวัดนกได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย จึงต้องป้องกันและเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการซ้อมแผนปฏิบัติการความพร้อมรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ ในพื้นที่ระดับตำบลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมสังเกตอาการผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ในหมู่บ้านและรายงานสถานการณ์ทุกวัน และเร็วๆนี้จะเตรียมซ้อมรับการระบาดใหญ่ในระดับประเทศ
นายไชยา กล่าวต่อว่า ด้านการรักษาพยาบาล ได้ให้โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศ สร้างห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจไว้รองรับผู้ป่วย เตรียมยาโอเซลทามิเวียร์ รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในโรงพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งจัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปรึกษาด้านการรักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ได้อบรมความรู้ให้บุคลากรทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว แพทย์ พยาบาล ทั่วประเทศ ในการรักษาพยาบาลไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ และโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ พร้อมรับมือหากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่ ช่วยลดอันตรายต่อชีวิตผู้ป่วยได้
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วิธีการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก ทั้งเกษตรกร ประชาชน มีหลายวิธี เช่น ไม่สัมผัสป่วยตาย การล้างมือ การกำจัดซากสัตว์อย่างถูกวิธี เด็กไม่ควรเล่นกับเป็ด ไก่ ป่วย รวมทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ซึ่งมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกตามประกาศกรมปศุสัตว์ หากเป็นไข้ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ขอให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบโดยด่วน อย่าปิดบังข้อมูล เพราะการรักษาที่รวดเร็ว จะลดความรุนแรงและการเสียชีวิต
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนถึงวันนี้ มีรายงานใน 14 ประเทศได้แก่ อาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว ไนจีเรีย พม่า ปากีสถาน ไทย ตุรกีและเวียดนาม ป่วยทั้งหมด 371 ราย เสียชีวิต 235 ราย สำหรับประเทศไทย ขณะนี้สำนักระบาดวิทยาได้เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมที่รักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในข่ายการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกด้วยทุกวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551-15 มีนาคม 2551 ได้รับรายงานทั้งหมด 259 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนก
******************************** 15 มีนาคม 2551
View 9
15/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ