กระทรวงสาธารณสุข เผยจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปีนี้พุ่งขึ้นสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 77 ในรอบ 2 เดือนเศษปี 2551 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้วกว่า 5,000 ราย เสียชีวิต 7 ราย กว่าร้อยละ 80 เป็นเด็กโต แนะหากเป็นไข้ห้ามซื้อยาแก้ปวดลดไข้อย่างแรงกินเด็ดขาด เนื่องจากทำให้เลือดออกง่ายเสียชีวิตง่ายขึ้น ชี้ขณะนี้ ยุงลาย พัฒนาตัวเอง สามารถซ่อนตัวในรถยนต์นำเชื้อไปแพร่ถิ่นอื่นได้ กำหนดรณรงค์เอ็กซเรย์กวาดล้างลูกน้ำยุงลายพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 20-27 มีนาคมนี้
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และประสบปัญหาโลกร้อนขึ้น ทำให้ยุงลายซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ประชาชนทุกวัยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกยุงลายกัด และป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก
จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2551 ในรอบ 10 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 8 มีนาคม ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยแล้ว 5,837 ราย เสียชีวิต 7 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 77 พบในภาคกลางมากที่สุด 3,669 ราย เสียชีวิต 6 ราย รองลงมาคือภาคใต้ ป่วย 1,015 ราย เสียชีวิต 1 ราย ภาคเหนือป่วย 655 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วย 498 ราย ส่วนในกทม.พบป่วย 1,037 ราย ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยมากที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง ป่วยแสนละ 53 คน กระบี่แสนละ 36 คน ภูเก็ตแสนละ 27 คน ราชบุรี แสนละ 25 คน สมุทรปราการ แสนละ 25 คน สมุทรสาคร แสนละ 24 คน นครปฐม แสนละ 21 คน พระนครศรีอยุธยา แสนละ 21 คน ระยอง แสนละ 21 คน และประจวบคีรีขันธ์ แสนละ 21 คน
นายไชยา กล่าวต่อว่า ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ทำลายลูกน้ำยุงลาย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามจานรองกระถางต้นไม้ ภาชนะน้ำใช้ ภาชนะที่ไม่ได้ใช้และมีน้ำขัง จานรองขาตู้กับข้าว แจกัน ให้เทน้ำทิ้งหรือทำลายลูกน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำไม่ให้กลายเป็นตัวยุงให้ได้มากที่สุด โดยเร่งให้กำจัดทุกอาทิตย์เน้นหนักในเดือนมีนาคมและเมษายน โดยเฉพาะ 10 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด จะต้องเร่งควบคุมการระบาดโดยเร็วที่สุด โดยกำหนดวันรณรงค์เอ็กซเรย์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20-27 มีนาคม 2551 โดยระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.กว่า 8 แสนคน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทุกหลังคาเรือน ถือเป็นการระดมพลกวาดล้างยุงลายครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในปีนี้ พบว่าพบในกลุ่มเด็กโตอายุมากกว่า 10 ปีมากขึ้นจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนคาดไม่ถึงว่าติดเชื้อไข้เลือดออก อาการของโรคไข้เลือดออกจะเริ่มต้นด้วยไข้สูงติดต่อกัน อ่อนเพลีย ไม่มีน้ำมูก เมื่อมีอาการป่วย มีไข้ มักจะไปซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้ชนิดฤทธิ์แรง เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งหลังกินแล้วจะทำให้อาการดีขึ้น จะต้องระวังห้ามกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เลือดออกไม่หยุดเสียชีวิตง่ายขึ้น ยาที่แนะนำให้กินเพื่อลดไข้คือ พาราเซตามอล แต่ควรกินไม่เกิน 2 วัน หากไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์ โดยเร็ว
ได้เน้นย้ำให้แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งแพทย์เด็กและแพทย์ผู้ใหญ่หรืออายุรแพทย์ เมื่อพบผู้ที่มีไข้สูงทุกราย ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกไว้ด้วย เพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อไข้เลือดออกที่พบในปีนี้มีสัดส่วนเป็นสายพันธุ์ที่ 3 มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่พบการระบาดในประเทศกัมพูชาในปีที่ผ่านมา สายพันธุ์นี้ทำให้เกร็ดเลือดต่ำ เลือดจะออกง่าย พื้นที่เกิดโรคเปลี่ยนจากภาคใต้มาเป็นภาคกลาง จะต้องเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดโดยเร็ว ก่อนที่จะถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากยุงลายมีการพัฒนาตัวเอง สามารถบินเข้าไปหลบซ่อนอยู่ตามรถยนต์ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเดินทางกลับบ้านไปยังภาคต่างๆ ก็อาจจะนำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่นๆ ขณะเดียวกันยุงอาจติดรถยนต์และเดินทางเอาเชื้อออกไปแพร่ถิ่นอื่นได้ เมื่อยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกไปกัดคนอื่นก็จะเอาเชื้อไปแพร่ด้วย ฉะนั้นจึงขอแนะนำประชาชน ขอให้ปิดประตูรถให้สนิท อย่าเปิดประตูรถทิ้งไว้ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
*********************************** 16 มีนาคม 2551
View 9
16/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ