ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 132 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (21 มีนาคม 2563) ที่สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย บรรยายสรุปสถานการณ์ และมาตรการของไทยในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย นักการทูตจากประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมฟัง
นายอนุทินกล่าวว่า ไทยมีความพร้อมรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สามารถบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งสถานพยาบาล บุคลากร ห้องปฏิบัติการ และเวชภัณฑ์ รวมทั้งได้ประสานโรงพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือในการรับดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19 นอกจากนี้ ไทยได้ประสานงานกับรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น จัดซื้อยาแบบรัฐต่อรัฐ และได้รับการสนับสนุนด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากภาคเอกชน Jack Ma Foundation โดยทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขมีประสบการณ์การควบคุมโรคระบาด ทำตามนโยบายที่วางแผนทำงานล่วงหน้าก่อนสถานการณ์หนึ่งขั้น ทำให้องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศเชื่อมั่นต่อมาตรการการควบคุมโรคของไทย และพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของไทยด้วย
“ชื่นชมและขอบคุณบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี เสียสละ และหัวใจสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคคือ ความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ซึ่งเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทั่วโลกยอมรับว่าสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อได้” นายอนุทินกล่าว
สำหรับมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามประกาศของสถาบันการบินพลเรือนที่เอกอัครราชทูตหลายประเทศแสดงความกังวลนั้น จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณา ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ มีความรอบคอบในการออกมาตรการต่างๆ มุ่งเน้นการจัดการควบคุมการระบาดของโรคที่ขณะนี้เป็นการติดเชื้อภายในประเทศไทย
ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสุขภาพของไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งระบบการรักษา ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ มีสถานพยาบาลครอบคลุมทุกระดับ ทั้งในกรุงเทพ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกตำบล และระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ซึ่งมีนักระบาดวิทยากระจายตัวอยู่ในทุกเขตสุขภาพ ทำงานอย่างรวดเร็ว
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า Covid-19 เป็นเชื้อไวรัสใหม่ ไม่มีระบบสุขภาพของประเทศใดในโลกเคยพบ และได้เตรียมการรับมือกับโรคนี้มาก่อน สิ่งที่ระบบสุขภาพของประเทศไทยดำเนินการจัดการกับการระบาดของ Covid-19 ถือว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยม ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ หากติดเชื้อก็ทำการรักษาเพื่อป้องการตาย การตอบสนองของระบบสุขภาพไทย (public health response) ต่อสถานการณ์ Covid-19 ที่ทำได้ดีเยี่ยมอยู่แล้วนั้น จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ต้องทำการขยายลงไปในระดับภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ
************************************ 21 มีนาคม 2563