รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมนักวิชาการจากกรมควบคุมโรค 8 คน ไปช่วยการรถไฟแห่งประเทศไทย กวาดล้างตัวเรือดที่ซ่อนตัวในเบาะรถไฟ โดยจะใช้วิธีพ่นสารเคมีอัลฟาไซเปอร์เมทรินความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ สารเคมีจะไปทำลายระบบประสาทของเรือด และตายภายใน 2 นาที และวิธีอบฆ่าด้วยสารเดลต้าเมทริน ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ นานครึ่งชั่วโมง และจะต้องสำรวจซ้ำทุก 2-4 สัปดาห์ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้(17 มีนาคม 2551 ) ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคส่งเจ้าหน้าที่ จำนวน 8 คน มีนายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหัวหน้าทีม เข้าไปช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาตัวเรือดในเบาะรถไฟ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง นายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในการกำจัดตัวเรือดครั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะเสริมการกำจัดเรือดให้ได้ผลยิ่งขึ้น จะใช้ 2 วิธีควบคู่กัน ได้แก่ การฉีดพ่นสารเคมี และการอบ หรือรมควันด้วยสารเคมี โดยน้ำยาที่ฉีดพ่นจะใช้อัลฟาไซเปอร์เมทริน (Alphacypermetrine) ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำในอัตรา 60 ซีซีต่อน้ำ 7 ลิตรครึ่ง หลังฉีดพ่นตัวเรือดที่สัมผัสสารเคมีจะตายภายในเวลา 2 นาที โดยฤทธิ์ของยาจะทำลายระบบประสาทของเลือด แต่ไม่สามารถกำจัดเรือดได้ทั้งหมด จะต้องใช้การอบรมควันด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่าเดลต้าเมทริน (Deltametrine) ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผสมกับน้ำมันดีเซล 49 ส่วนต่อสารเคมี 1 ส่วน ใช้อบนาน ครึ่งชั่วโมงจะทำให้ตัวเรือดตาย ขณะอบจะต้องปิดหน้าต่างรถไฟ สารเคมีทั้ง 2 ตัว ไม่เป็นอันตรายต่อคน และไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การกำจัดตัวเรือดนี้จะต้องทำทุก 7 วัน และมีการสำรวจทุก 2-4 สัปดาห์ โดยดูทั้งตัวเรือด และไข่ว่ายังมีอยู่หรือไม่ หากยังพบก็ต้องกำจัดต่อ ซึ่งวิธีการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย รื้อเบาะ และเปลี่ยนวัสดุเบาะเพื่อไม่ให้ตัวเรือดอาศัยอยู่ได้ รวมทั้งการทำความสะอาดเป็นวิธีที่ได้ผล ตัวเรือดเป็นแมลงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 150-200 ใบ ตามร่อง หรือรอยแตกของไม้ ไข่มีลักษณะเป็นสีครีม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ที่อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ อาหาร และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะกลายเป็นตัวโตเต็มวัย 8-13 สัปดาห์ ตัวเรือดมีอายุยืนยาว ชอบดูดกินเลือดทั้งคนและสัตว์ เป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ถูกกัดจะรู้สึกคันบริเวณที่ถูกกัด บางรายเป็นผื่นแพ้ ควรรีบล้างแผลที่ถูกกัดให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฎิชีวนะหรือครีมทาบริเวณที่ถูกกัด แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาด เพื่อป้องกันตัวเรือดอาศัย แหล่งที่พบตัวเรือดมากคือในสถานที่ที่ค่อนข้างสกปรก โดยตัวเรือดมักอาศัยอยู่ในที่นอน ซอกเตียง เก้าอี้ ซอกหลืบ และรอยแยกตามอาคาร ซ่อมแซมบริเวณรอยแตกร้าวของอาคาร ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัย


   
   


View 6    17/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ