กระทรวงสาธารณสุขไทย ทุ่มงบเกือบ 400 ล้านบาท ขจัดเชื้อวัณโรคให้หมดไปจากคนไทย ล่าสุดในปี 2551 องค์การอนามัยโลกจัดวัณโรคในไทยอยู่ในอันดับ 17 ของโลก มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละกว่า 91,000 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานเกือบ 1,500 ราย เสียชีวิตปีละ 5,000-7,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน เร่งให้ทุกพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ใครมีอาการไอ ผอมแห้ง มีไข้ตอนบ่าย ตรวจรักษาฟรีที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลทั่วประเทศจนหายขาด วันนี้ (19 มีนาคม 2551) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันวัณโรคโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ประเทศสมาชิกเร่งรวมพลังหยุดยั้งวัณโรคจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข โดยใช้คำขวัญว่า “รวมพลัง หยุดยั้ง วัณโรค” (I am stopping TB) เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรม ทำงานได้ไม่เต็มที่ และยังเป็นโรคฉวยโอกาสที่สำคัญในกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานต่ำ เป็นเหตุให้โรคกำเริบรุนแรงและเสียชีวิตเร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2550 ทั่วโลกพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 9 ล้านกว่าราย ใน 202 ประเทศ เสียชีวิตปีละ 1.5 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ติดเชื้อวัณโรค 200,000 ราย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดขึ้นอีก สาเหตุจากการระบาดของเชื้อเอดส์ และมีแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้น ขณะนี้คาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ 91,000 ราย จัดอยู่ในอันดับที่ 17 ในจำนวน 22 ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก และมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตปีละ 5,000-7,000 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานฐานะยากจน โดยเฉพาะคนที่อาศัยในชุมชนแออัดในกทม.และเขตเมืองใหญ่ ปัญหาหลักของไทยขณะนี้พบว่าผู้ป่วยโรควัณโรคเพียงร้อยละ 60 ที่เข้ารักษาตัว และแนวโน้มเข้ารักษาตัวน้อยลง จากปี 2548 จำนวน 58,433 ราย เหลือเพียง 50,000 รายในปี 2550 ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ป่วยวัณโรคซ้ำ 1,458 ราย โดยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยร้อยละ 7 หรือประมาณ 3,646 ราย จึงทำให้มีแหล่งแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้มาก โดยผู้ป่วยวัณโรค 1 ราย สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้มากกว่า 10 คน และจากการประเมินผลการรักษา มีอัตราการรักษาหายขาดประมาณร้อยละ 76 ต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือร้อยละ 85 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อวัณโรคที่ยังไม่มีอาการป่วยอีกจำนวนมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาวัณโรคทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดรวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 8 แสนคน เร่งกวาดล้างเชื้อวัณโรคให้หมดไป โดยค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้าน ชุมชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชุมชนแออัด ฐานะยากจน กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มติดเชื้อเอชไอวีที่มีประมาณ 1 ล้านคน ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อวัณโรคที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง และให้การรักษาฟรีให้หายขาด โดยในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท สำหรับดำเนินการทั่วประเทศ ด้านนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการของโรควัณโรคที่สำคัญ ได้แก่ ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม อ่อนเพลีย มักมีไข้ตอนบ่ายๆ หรือตอนเย็น หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการดังกล่าวและไอเกิน 2 สัปดาห์ ขอให้พาไปตรวจที่สถานพยาบาล ซึ่งขณะนี้การตรวจวินิจฉัยง่ายมาก เพียงเอ็กซเรย์ปอดและตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค หากพบว่าเป็นวัณโรคจะให้การรักษาโดยกินยาติดต่อกัน 6 เดือน ผู้ป่วยสามารถรักษาที่สถานีอนามัยได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบและเป็นปัญหามากในปัจจุบันคือ “วัณโรคปอด” เพราะแพร่กระจายและติดต่อได้ง่าย ทางการไอจามรดกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ร่างกายจะทุดโทรมอย่างรวดเร็วและมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การป้องกันโรคนี้ ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรเอาใจใส่ดูแลให้กินยาครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน ควรตรวจร่างกาย โดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง พาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีน บี ซี จี ควรจัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก ให้แสงแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด สำหรับกิจกรรมที่จะจัดในที่ 24 มีนาคม 2551 นั้น จะมีการสัมมนาสื่อมวลชนเรื่องวัณโรค เพื่อให้สามารถนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัณโรคไปเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการและการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องวัณโรคในกทม.อีกด้วย มีนาคม ******************************* 19 มีนาคม 2551


   
   


View 6    19/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ