รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกไอเดียหนุนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำโครงการร่วมมือกับหน่วยงานในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ศึกษาวิจัยแก้ปัญหาโรคใหม่ โดยเฉพาะโรคที่มากับภาวะโลกร้อน และหนุนไทยวิจัยผลิตยารักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็งเอง ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดทดสอบเชื้อโรคมาลาเรียภาคสนาม รู้ผลใน 15 นาที อยู่ระหว่างให้องค์การอนามัยโลกรับรองมาตรฐาน เพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในวันนี้ (19 มีนาคม 2551) ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปรียบเสมือนเป็นคลังสมองของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำหน้าที่วิจัย ค้นคว้า วิเคราะห์และพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศ ได้มอบนโยบายให้เพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ในการวิจัยและพัฒนาวิจัยโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาที่ตามมากับโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาจากสิ่งแวดล้อม ต้องมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ความร่วมมือดังกล่าวอาจทำเป็นโครงการอาเซียน (Asian Program) ก่อน นักวิทยาศาสตร์จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยพร้อมจะให้การสนับสนุนและเป็นแกนประสานงาน นอกจากนี้ โรคที่คนไทยป่วยกันมาก เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเอดส์ ซึ่งไทยได้ประกาศซีแอล เพื่อให้ได้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพและมีราคาถูก ก็จะต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายารักษาและทำการผลิตเองในประเทศ ซึ่งจะลดต้นทุนได้ ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิจัยชุดทดสอบเชื้อโรคมาลาเรีย ซึ่งยังเป็นปัญหาในจังหวัดแถบชายแดนของไทย รวมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ปีที่ผ่านมาป่วย 31,001 ราย เสียชีวิต 38 ราย ชุดทดสอบที่ผลิตนี้สามารถตรวจเชื้อไข้มาลาเรียได้ทั้งชนิดพลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม (Plasmodium falciparum) และกลุ่มไม่ใช่ฟัลซิปารั่ม (Non falciparum) ได้แก่ พลาสโมเดียมไวแวกซ์ (P.vivax) พลาสโมเดียม มาลาเรียอี่ (P.malariae) และพลาสโมเดียม โอวาเล (P.ovale) ในไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิด ฟัลซิปารั่ม และ ไวแวกซ์ ชุดทดสอบสามารถระบุเชื้อต้นเหตุได้ภายใน 15 นาที การใช้ไม่ยุ่งยาก ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผล ให้ยาตรงกับชนิดของเชื้อ ช่วยลดปัญหาดื้อยาได้ นายแพทย์มานิต กล่าวต่อว่า จากการทดสอบในภาคสนามที่จังหวัดตาก ระนอง จันทบุรี พบว่าสามารถตรวจชนิดของเชื้อได้ผลแม่นยำเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ได้ขยายการทดทดสอบในระดับนานาชาติ เช่น ที่พม่า อินเดีย แองโกล่าและบราซิล เพื่อให้องค์การอนามัยโลกรับรองและสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ขณะนี้ได้ติดต่อกับองค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว กำลังจะส่งชุดทดสอบไปให้ ภายในครึ่งปีหน้าจะได้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังจะจัดสัมมนาเพื่อดูปัญหาโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งโรคที่ยังไม่มีชุดวินิจฉัยด้วย เพื่อผลิตชุดทดสอบที่ง่ายและรวดเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนของโรคไข้กระต่าย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความสามารถตรวจได้ โดยใช้วิธีการตรวจมาตรฐาน ในด้านการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ได้ทำโครงการวิจัยพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาโรคในอนาคต โดยเฉพาะโรคที่ยังรักษาด้วยยาไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้ทำวิจัยทางคลินิกร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี เพื่อใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ และร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน พัฒนาการรักษาโรคกระดูกและข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อเข่าเสื่อม ซึ่งที่ผ่านมาการรักษาต้องใช้วิธีเปลี่ยนข้อ แต่ต่อไปนี้จะใช้วิธีรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดทดแทน มีนาคม5/1 ************************************** 19 มีนาคม 2551


   
   


View 9    19/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ