“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ปรับนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (PUI) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาด เพิ่มการตรวจวินิจฉัยมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยอาการเข้าเกณฑ์และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกราย และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรค
บ่ายวันนี้ (7 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วย ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตลอดจนผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคโควิด-19 กระจายในหลายพื้นที่ จึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังสอบสวนโรค (Patient Under Investigation (PUI)) ใหม่ เป็นครั้งที่ 7 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน ซึ่งพบผู้ป่วยเกือบทั่วโลก จึงตัดนิยามพื้นที่เสี่ยงออก และในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสนามมวย สถานบันเทิง แต่พบผู้ป่วยที่ไปตลาดนัด เดินทางข้ามจังหวัดโดยสารรถขนส่งสาธารณะ จึงเพิ่มการกำหนดสถานที่ชุมนุมชนหรืออาชีพเสี่ยง รวมทั้งแยกบุคลากรทางการแพทย์ออกจากกลุ่มอื่นเป็นการจำเพาะ ตามความเห็นของคณะกรรมการวิชาการ เนื่องจากเป็นบุคลากรที่ให้การดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ชัดเจนและค้นหาได้เร็วขึ้น
โดยนิยามการเฝ้าระวังโรคที่สำคัญ มีดังนี้ 1. คัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกคนในทุกช่องทาง โดยเฝ้าระวังผู้ที่มีอุณหภูมิ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบหรือหายใจลำบาก ต้องส่งตัวไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลที่กำหนด
2. การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ในกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับมีประวัติในช่วงเวลา 14 วันก่อนเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1) มีประวัติการเดินทางหรืออาศัยในพื้นที่ที่เกิดโรคโควิด-19 2) มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก 3) เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือมีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะ 4) สัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด-19
3. การเฝ้าระวังในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาประเมินความเสี่ยงหรือโอกาสการติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย/ผู้สงสัยว่าป่วย
4. การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อนของผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบทุกราย โดยในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไปในแผนกเดียวกัน /โรงพยาบาลขนาดเล็ก/คลินิก และในกลุ่มคนที่อยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ภายในสัปดาห์เดียวกัน
5. สำหรับนิยามผู้ป่วยปอดอักเสบยังคงเดิม คือเป็นปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือภาพเอกซเรย์ปอดเข้าได้กับโรคโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ประชาชนที่ป่วยและมีอาการเข้าเกณฑ์ตามนิยามจะได้ตรวจวินิจฉัยทุกคน ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการป่วย หากสอบสวนโรคพบเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์ก็จะได้ตรวจวินิจฉัยเช่นกัน อย่างไรก็ดี การตรวจที่มีโอกาสพบเชื้อมักเป็นการตรวจเมื่อมีอาการป่วย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้พัฒนาระบบการส่งตรวจ การเรียกเก็บ การรายงานผล และการเพิ่มห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เหมาะสม รวดเร็ว เพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย บุคลากรในพื้นที่ปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
****************************** 7 เมษายน 2563