“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 95 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมคณาจารย์แพทย์ ม.ธรรมศาสตร์คิดค้นนวัตกรรม เทคโนโลยีสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอย. เร่งรับรองคุณภาพการใช้งานของเวชภัณฑ์ที่คิดค้น
วันนี้ (10 เมษายน 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโรงพยาบาลสนาม ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี และให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ ได้นำทีมกระทรวงสาธารณสุข มาหารือกับคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทางคณาจารย์ได้คิดค้นรูปแบบ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เทเลเมดดิซีน หุ่นยนต์ แอปพลิเคชัน clicknic วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าว จึงมีนโยบายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอย. เร่งรับรองคุณภาพให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ผู้ใช้มั่นใจ และเมื่อมีรายงานผลการศึกษาถึงประสิทธิผลในทางการแพทย์ จะนำไปขยายผลให้มีการใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศต่อไป
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้จัดระบบเป็น SMART COVID HOSPITAL มีระบบนัดหมายทางโทรศัพท์ 029269022 คิวอาร์โค้ด และผ่านแอปพลิเคชัน clicknic ซึ่งมีระบบล็อคด้วย GPS และระบบการติดตามอาการ (follow up) กับสหวิชาชีพ จะมีการคัดกรองด้วยแบบสอบถามเบื้องต้น แบ่งเป็นระดับเสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง หากประเมินว่าอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูงจะส่งต่อไปปรึกษากับอาจารย์แพทย์ด้วยระบบวีดีโอคอล ซึ่งมีทีมอาจารย์แพทย์ให้คำปรึกษา 107 ท่าน และหากต้องได้รับการตรวจหรือต้องเก็บสิ่งส่งตรวจจะมีระบบการนัด ช่วยลดแออัดผู้ป่วยที่ต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์สำรองเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 57 เตียง และโรงพยาบาลสนาม 308 เตียง
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากคือ กทม. ภูเก็ต และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กระทรวงสาธารณสุขจะลงไปดูแลสถานการณ์ใกล้ชิดเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจำกัดวงการระบาดไม่ให้กระจายออกจากพื้นที่ สำหรับในกทม. มีการบูรณาการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ กทม. โรงพยาบาลเอกชน โดยกรมการแพทย์ เป็นผู้ประสานงาน หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการเข้มข้น เช่น เคอร์ฟิว ไม่ให้เปิดผับบาร์ ห้ามการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทาง ประชาชนอาจไม่สะดวกบ้าง รัฐบาลทราบปัญหาทุกอย่างดีว่าประชาชนมีความเดือดร้อน แต่เราต้องทำทุกอย่างเพื่อหยุดการระบาดของโรค ขอให้ประชาชนเข้าใจ ให้ความร่วมมือระมัดระวังตัว ทำงานจากบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมเพิ่มขึ้น ก็จะกลับมาเป็นปกติในที่สุด
“ส่วนมาตรการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่หลายจังหวัดได้ดำเนินการทำให้งดการสังสรรค์ มีส่วนช่วยในการเว้นระยะห่างทางสังคม ถือว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการสู้กับโรค เพราะโรคโควิด-19 ติดไปกับคน ซึ่งมีผลการศึกษาชัดเจนว่าเมื่อประชาชนร่วมมือรักษาระยะห่าง ลดการสัมผัส กอด ทักทาย อัตราการติดเชื้อก็จะลดลง นอกจากนี้ขอให้ผู้ป่วยบอกประวัติกับแพทย์ให้ชัดเจน อย่าปิดบัง เพราะอาจทำให้บุคลกรทางการแพทย์ที่ดูแลติดเชื้อไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ต้องขอขอบคุณ เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้” นายอนุทินกล่าว
************************************** 10 เมษายน 2563
********************************