“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 90 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว จำกัดวงการแพร่กระจายโรคโควิด-19 แยกระบบบริการผู้ป่วย คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หอผู้ป่วย หอผู้ป่วยวิกฤติความดันลบ โรงพยาบาลเฉพาะกิจ (hospitel) จัดทำแพลตฟอร์ม “กรมอนามัย CLEAN Together” ทาง Line application / Web browser ปักพิกัดสถานประกอบการที่มีมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ครบ
วันนี้ (17 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อทั่วไป แถลงข่าวการดำเนินงานในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้พบโดยเร็วที่สุด โดยขยายการค้นหาเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ 1.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อที่ไม่ทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง โดยค้นหาในกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อ ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และกลุ่มที่อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย และ2.การค้นหาในชุมชน ซึ่งจะค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องในระยะเวลาอย่างน้อย 28 วัน ตัวอย่างการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดภูเก็ต ได้ค้นหาในพื้นที่ระบาด 2 กลุ่ม ได้แก่ ซอยบางลา และตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 2,915 ราย พบติดเชื้อ 26 ราย นำเข้าสู่ระบบการรักษา และจำกัดวงการแพร่กระจายโรค และได้ขยายมาดำเนินการในกทม.ที่เขตบางเขน คลองเตย
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ และสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับระบบการทำงาน แยกระบบบริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกจากผู้ป่วยปกติเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยตั้งคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI Clinic) เพื่อเป็นจุดคัดกรองตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ จัดเตรียมหอผู้ป่วยรวม หอผู้ป่วยเดี่ยวที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤติความดันลบสำหรับคนไข้อาการหนัก และโรงพยาบาลเฉพาะกิจ (hospitel) สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือได้รับการรักษาจนปลอดภัย แต่ยังต้องสังเกตอาการ รวมทั้งเตรียมครุภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล (PPE) เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ปรับแผนการจัดบริการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งจัดอบรมบุคลากร จัดทำแนวทางปฏิบัติ/ มาตรฐานต่างๆ สำหรับหน่วยบริการทั่วประเทศ และข้อแนะนำประชาชน ซึ่งจะมีการปรับปรุงเป็นระยะตามข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ขอให้ประชาชนมั่นใจเข้ากระบวนการรักษาเร็ว โอกาสรักษาหายมีมาก ที่สำคัญประชาชนเป็นฮีโร่ตัวจริง หากมีประวัติเสี่ยงขอให้บอกผู้ให้การรักษา เพื่อจะได้เตรียมพร้อมกระบวนการป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้จัดทำแพลตฟอร์ม “กรมอนามัย CLEAN Together” ผ่านทาง Line application และ Web browser สำหรับ 2 กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รถขนส่งสาธารณะ และรถขนส่งอาหารเดลิเวอรี (Delivery) ที่ได้รับความนิยมใช้บริการช่วงเวลานี้ เพื่อให้สถานประกอบการประเมินว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 หากทำได้ครบตามข้อกำหนด จะสามารถปักหมุดพิกัดไว้ในแพลตฟอร์มว่าเป็นสถานประกอบการที่มีมาตรการในการป้องกัน COVID-19 และกลุ่มประชาชนทั่วไป จะสามารถตรวจสอบพิกัดของโรงแรม ร้านค้า หรือรถขนส่งสาธารณะ และแนะนำติชมสถานประกอบการที่ไปใช้บริการได้ นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินความเสี่ยงตนเองต่อการติดเชื้อ ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข่าวปลอม กรณีจำเป็นต้องเดินทางจะมีคำแนะนำให้ รายละเอียดใน https://stopcovid.anamai.moph.go.th/menu และขอให้ประชาชนตั้งการ์ดให้เป็นนิสัย สร้างมาตรฐานใหม่ให้สังคมไทย สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ป้องกันได้ทุกโรค
*********************************** 17 เมษายน 2563
****************************************************