กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมประชุมทางไกลกับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและสหรัฐอเมริกา หารือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากโควิด 19 สร้างความร่วมมือการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ในภูมิภาคให้เข้มแข็ง

          เช้าวันนี้ (30 เมษายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สำเริง  แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-สหรัฐฯ ทางไกลสมัยพิเศษ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐฯ  และเลขาธิการอาเซียน โดยไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการค้นหาผู้ติดเชื้อตั้งแต่ระยะแรก การเฝ้าระวังป้องกันโรค และการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้  

          นายแพทย์สำเริงกล่าวว่า รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคโควิด 19 จัดสรรเงินช่วยเหลือเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ และไทยได้เสนอที่ประชุมว่า ต้องสร้างความมั่นใจว่ามาตรการจำกัดการเดินทางต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิต การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้ได้โดยเร็ว เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้วต้องจัดสรรให้ทุกประเทศอย่างเท่าเทียม  รวมทั้งการลงทุนสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงด้านสุขภาพโลก

          ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยความร่วมมือในการตอบโต้โควิด 19 โดยเน้นการแบ่งปันข้อมูล แนวทางการปฏิบัติที่ดี และมาตรการการควบคุมโรคที่ถูกต้อง ทันเวลา และโปร่งใส การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาวัคซีน การเข้าถึงยาจำเป็นและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล และแสดงความยินดีต่อข้อริเริ่มความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างอาเซียนและสหรัฐอเมริกา (US-ASEAN Health Futures Initiative) เพื่อสร้างศักยภาพด้านการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียน การทำงานร่วมกันกับองค์กรระหว่างประเทศ และการลงทุนในระบบสาธารณสุขผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพโลก รวมทั้ง ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญของประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐฯ สม่ำเสมอ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และ ติดตามการดำเนินงานตามแถลงการณ์ พร้อมรับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ให้มีประสิทธิภาพ

          ด้านเลขาธิการอาเซียนได้กล่าวถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งของอาเซียนในการตอบโต้โควิด 19 และที่ประชุมผู้นำอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ล้วนให้ความสำคัญในการควบคุมการระบาดและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ความร่วมมือเร่งผลิตวัคซีน  และขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้สนับสนุนทั้งด้านวิชาการและงบประมาณแก่ประเทศอาเซียนในการตอบโต้การระบาดของโรค

 ************************************* 30 เมษายน 2563



   
   


View 1767    30/04/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ