องค์การเภสัชกรรม จัดเตรียมยารักษาโควิด 19 ทั้ง 7 รายการให้เพียงพอดูแลรักษาผู้ป่วย ผลิตได้เอง 5 รายการ พร้อมวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คาดปี 64 พร้อมยื่นขึ้นทะเบียน ขณะนี้นำเข้ามาแล้ว จำนวน 187,000 เม็ด และในเดือนพฤษภาคมนี้ นำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นอีกจำนวน 303,860 เม็ด 

          บ่ายวันนี้ (19 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้วางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด 19  ภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว ซึ่งมียาที่ใช้ร่วมกัน 7 รายการ โดยองค์การเภสัชกรรมผลิตเอง 5 รายการ ประกอบด้วย 1. ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ 1.8 ล้านเม็ด 2. ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และริโทรนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ 30.6 ล้านเม็ด 3. ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 4. ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 5. ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้ 3.4 ล้านเม็ด 

          ส่วนยาอีก 2 รายการคือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ได้จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้ว 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา อภ.และกรมควบคุมโรค ได้มีการจัดซื้อแล้ว 187,000 เม็ด จาก 2 แหล่งผลิตหลัก คือบริษัท FUJIFILM Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่นเจ้าของสิทธิบัตรและบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีนซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น โดยได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วประมาณ 100,000 เม็ด ยังคงมียาสำรองในคลังของ อภ. ประมาณ 87,000 เม็ด และจะส่งมอบเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมเพื่อสำรองไว้อีก 303,860 เม็ด (จากประเทศญี่ปุ่น 103,860 เม็ด ที่เลื่อนการส่งมอบมาจากในปลายเดือนเมษายน  และส่งมอบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 200,000 เม็ด) ซึ่งจะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

          สำหรับความคืบหน้าการพัฒนายาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ ขยายขนาดการผลิต ศึกษาความคงสภาพและประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีจะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์  คาดจะแล้วเสร็จภายใน 3 – 6 เดือน และจะสามารถเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งนี้ ในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น อภ.จะต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้สามารถผลิตและจำหน่ายได้

          “ขอเตือนว่ายาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้เฉพาะโรค เป็นยาอันตราย การสั่งใช้ต้องเป็นไปตามการสั่งของแพทย์เท่านั้น ประชาชนห้ามซื้อมากินเองเด็ดขาด” ดร.ภญ.นันทกาญจน์กล่าว

 ************************************  19 พฤษภาคม 2563

*****************************

 



   
   


View 1632    19/05/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ