กระทรวงสาธารณสุขเผยแพทย์ในชนบทยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยเฉลี่ยกว่า 3,000 คน ทำงานหนักกว่ามาตรฐานโลกถึง 2 เท่าตัว เร่งผลิตแพทย์เพิ่มอีก 3,807 คนใน 5 ปี ข้างหน้า หวังคลี่คลายปัญหาขาดแคลนและลดภาระของแพทย์ ย้ำให้แพทย์ชนบทจบใหม่ทำงานให้ยึดประชาชนเป็นหลัก เข้าใจชุมชน วันนี้(31 มีนาคม 2551)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2550 จำนวน 286 คน ซึ่งแพทย์ดังกล่าวจะเดินทางไปทำงานในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 1 เมษายน 2551 นี้ นายไชยา กล่าวว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรแพทย์และทันตแพทย์ที่จบใหม่ สมัครใจเข้าทำงานในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จำนวน 1,466 คน จากข้อมูลแพทย์ปี 2548 พบว่าทั่วประเทศมีแพทย์ทั้งหมด 19,546 คน โดยเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยจัดบริการหลักของประเทศ จำนวน 9,928 คน แพทย์ 1 คนจะต้องดูแลผู้ป่วยเฉลี่ย 3,182 คน ซึ่งถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก หนักกว่ามาตรฐานโลกถึง 2 เท่าตัว ที่กำหนดแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน โดยหนักที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดูแลประชาชนเฉลี่ย 7,000 กว่าคน จะต้องเพิ่มการผลิตแพทย์อีกอย่างน้อย 1 เท่าตัวของที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละปีโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้ปีละ1,032 คน แต่ขณะนี้แพทย์มีปัญหาถูกฟ้องร้องเป็นคดีความมากขึ้น ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจเรียนแพทย์น้อยลงไปมาก ปีนี้มีเด็กสละสิทธิ์เรียนแพทย์ไปแล้วประมาณ 200 คน อาจทำปัญหาขาดแพทย์วิกฤติมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขปัญหาทุกวิถีทางเพื่อรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบให้มากที่สุด ทั้งเรื่องสวัสดิการ ความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยเช่น เช่นใน 3 จังหวัดภาคใต้ จะดูถึงสวัสดิการครอบครัวด้วย สำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 12 แห่ง เร่งรัดการผลิตแพทย์เพิ่มเสริมจากการผลิตระบบปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและการกระจายแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ชนบทอีก 2 โครงการ คือโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เริ่มรับนักศึกษาตั้งแต่ 2538 – 2550 เป้าหมายผลิต 3,604 คน ขณะนี้จบแล้ว 7 รุ่น จำนวน 1,096 คน ในปีการศึกษา 2550 มีแพทย์จบจากโครงการนี้ 286 คน และขยายโครงการผลิตนี้ต่อไปอีกตั้งแต่พ.ศ. 2550-2556 อีกจำนวน 3,807 คน ซึ่งมีโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข 30 แห่ง เป็นสถาบันสมทบสอนในชั้นปีที่ 4 - 6 ซึ่งเป็นภาคฝึกปฏิบัติทางคลินิกตรวจรักษาผู้ป่วยจริง ส่วนมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบสอนวิชาพื้นฐาน ในชั้นปีที่ 1 – 3 ซึ่งเป็นภาคทฤษฎี ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้โอกวาทแก่แพทย์ที่จะกลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาเดิมว่า ขอให้แพทย์ที่จะกลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาเดิมทุกคน ให้ความสำคัญในการ สร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี แข็งแรง ขณะเดียวกันขอให้ทำงานร่วมกับ อสม. ที่มีอยู่ 8 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นพลังด่านหน้า ในการช่วยลดภาวะการขาดแคลนบุคลากร และลดภาระแพทย์ไม่ให้เหนื่อยมากด้วย ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวให้โอวาทแพทย์ว่า ให้เน้นการทำงานเป็นทีมของสหวิชาชีพหลายด้าน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำโดยยึดประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องรุกออกไปในชุมชนด้วย เพื่อให้เหมาะกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและปัญหามีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุ ขอให้นำวิชาความรู้ใหม่ๆไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับฐานความคิดท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน บูรณาการความรู้สุขภาพสมัยใหม่ให้เข้ากับสิ่งที่มีชาวบ้านคิด ชาวบ้านเชื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพให้ได้ ทั้งนี้หากสามารถสร้างความเชื่อถือความไว้วางใจจากคนในชุมชนแล้ว จะได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือที่ดีจากชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ไม่ยาก มีนาคม …………………………… 31 มีนาคม 2551


   
   


View 6    31/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ