“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 98 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน 15 มิ.ย. ยึดคำขวัญ “หยุดไข้เลือดออก:เริ่มต้นที่ตัวเราป้องกันไข้เลือดออกระบาดในปีนี้ เผยสถิติมีผู้ป่วยสะสมในประเทศไทย 16,924 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี มีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง ประชาชนร่วมใจตัดวงจรลูกน้ำยุงลาย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้มีข้อตกลงร่วมกันที่กำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบโรคไข้เลือดออก โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพหลัก สำหรับปี 2020 นี้ เว้นปีประเทศเจ้าภาพเนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ใช้แนวคิดเดิมของปีที่ผ่านมา “End Dengue: Starts with me” หรือ “หยุดไข้เลือดออก: เริ่มต้นที่ตัวเรา” และให้จัดกิจกรรมตามบริบทของแต่ละประเทศเพราะมีปัญหาที่แตกต่างกัน
จากข้อมูลการระบาดขององค์การอนามัยโลก Dengue Situation Update Number 594 (21 May 2020) พบว่า การระบาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกตะวันตก ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีเพียงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วร้อยละ 5.6 และร้อยละ 23 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศจีนมีรายงานจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 65 สำหรับประเทศไทย จากรายงานสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 16,924 ราย (อัตราป่วย 25.53 ต่อแสนประชากร) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,539 ราย น้อยกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน มียอดผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 11 ราย
ในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด (3-30 พฤษภาคม 2563) พบจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ชัยภูมิ ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน ระยอง บึงกาฬ เลย มหาสารคาม จันทบุรี ร้อยเอ็ด และเชียงราย ตามลำดับ พิจารณาพบว่ากระจายทั่วทุกภูมิภาค กลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กนักเรียนอายุ 5 – 14 ปี โดยมีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจะเกิดจากการมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งการได้รับยา Ibuprofen/ยาฉีดแก้ปวด นอกจากนี้ ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในปี 2563 พบว่า มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงในทุกสถานที่ ทั้งชุมชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน
“แม้ว่าจะมีการป้องกันไข้เลือดออกด้วยการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกแต่ราคาอาจยังสูงอยู่ วิธีการง่ายๆทุกคนช่วย ป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกยุงกัด ดูแลความสะอาดรอบบ้านทั้งการจัดบ้านให้โปร่งโล่งเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่มีน้ำขังทุก 7 วัน ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ หรือใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” นายอนุทิน กล่าว
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อซึ่งระบาดในเขตร้อนที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า เด็งกี่ มี 4 สายพันธุ์ แต่ละปีมีการระบาดของแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันทำให้เมื่อผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไปแล้วและได้เชื้อสายพันธุ์อื่นอาจเกิดอาการรุนแรงได้ โดยทั่วไปอาการจะเริ่มจากมีไข้สูงและอาจสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมีผื่นแดงลักษณะคล้ายผื่นของโรคหัด และหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจะทำให้มีเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำ และมีการรั่วของพลาสมาหรือรุนแรงมากขึ้น เป็นกลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก ซึ่งมีความดันโลหิตต่ำอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
*********************************14มิถุนายน2563