กระทรวงสาธารณสุข เร่งขึ้นทะเบียนช่วยเหลือผู้พิการทั่วประเทศ และจัดหน่วยแพทย์เฉพาะทางตระเวนออกให้บริการช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพฟัน ตรวจวัดสายตา ตรวจสุขภาพประเมินความพิการ จัดทำแขนขาเทียมหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือ 4 ภาค โดยขณะนี้ไทยมีผู้พิการเกือบ 2 ล้านคน แต่ขึ้นทะเบียนได้เพียง 7 แสนกว่าคน โดยผู้พิการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภัยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน อุบัติเหตุจราจร มีคนเสี่ยงกว่า 6 ล้านคน เช้าวันนี้ (31 มีนาคม 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดงานโครงการ “กรมการแพทย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบเบ็ดเสร็จปี 2551” ที่หอประชุมโรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งกรมการแพทย์จัดขึ้นเพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในต่างจังหวัด โดยจัดทีมแพทย์หลายสาขา ออกให้บริการตรวจรักษาทั้งตรวจหู ตรวจวัดสายตา ตัดแว่น ทำฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน ใสฟันเทียมชนิดฐานพลาสติก พร้อมตรวจประเมินความพิการและจัดอุปกรณ์เสริม เช่น แขน ขาเทียม ไม้ค้ำยัน ตัดรองเท้า และขึ้นทะเบียนเพื่อการฟื้นฟูด้านสุขภาพและรักษาฟรีอย่างต่อเนื่อง นายไชยากล่าวว่า ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีผู้พิการจำนวน 1.9 ล้านคนหรือเกือบร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนผู้พิการแล้ว ร้อยละ 38 หรือ 721,489 คน มากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 39 รองลงมาภาคเหนือร้อยละ 23 ภาคกลางและตะวันออก ร้อยละ 22 ภาคใต้ร้อยละ 11 และกรุงเทพฯ ร้อยละ 5 ความพิการที่พบมากที่สุดคือแขนขาขาด 349,332 คน รองลงมาคือหูหนวก เป็นใบ้ 98,349 คน ปัญญาอ่อน 91,992 คน ตาบอด 75,562 คน โดยยังมีผู้พิการที่เหลืออีกร้อยละ 62 ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนรับการฟื้นฟูทางการแพทย์และด้านอื่นๆ ซึ่งผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนแล้วเป็นชายมากกว่าหญิงเกือบ 2 เท่าตัว ทั้งนี้ ปัญหาของความพิการขณะนี้ ประมาณร้อยละ 80 เกิดมาจากปัญหาแทรกซ้อนจากปัญหาอุบัติเหตุจราจร ซึ่งมีผู้บาดเจ็บปีละประมาณ 1 ล้านราย โดยจะทำให้เกิดความพิการได้ประมาณร้อยละ 2 หรือกล่าวได้ว่าอุบัติเหตุจาจรทำให้มีผู้พิการรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 20,000 ราย และพิการที่เกิดจากโรคประจำตัว ที่สำคัญคือ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งมีคนเป็นโรคนี้รวมประมาณ 5 ล้านคน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงพิการสูงกว่าคนปกติทั่วไปประมาณ 2-17 เท่าตัว โดยเฉพาะเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีความเสี่ยงพิการสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ 2 เท่าตัว เนื่องจากอยู่ในวัยเสื่อม อาจมีปัญหาหูตึง สายตามัว เกิดอุบัติเหตุง่าย และมักมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต จึงต้องวางแผนการช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติที่สุด นายไชยากล่าวต่อว่า ในการขึ้นทะเบียนฟื้นฟูสมรรถภาพและฟื้นฟูด้านอาชีพ การศึกษาแก่ผู้พิการ ทั่วประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกว่า 1 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพและจดทะเบียนคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ในโรงพยาบาลทุกจังหวัด ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลจัดตั้งแล้ว 157 แห่งใน 40 จังหวัด คาดว่าจะครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปีนี้ นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549-2550 กรมการแพทย์ให้บริการเชิงรุก โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ นำแพทย์ผู้เชียวชาญสาขาต่างๆ และนักกายภาพบำบัด ช่างกายอุปกรณ์จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และสถาบันทันตกกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันเมตตาประชารักษ์ ออกให้บริการตรวจรักษาผู้พิการและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 18,215 คน จากการประเมินผลพบว่า ผู้มารับบริการมีความพึงพอใจมาก เนื่องจากไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาล สำหรับในปี 2551 ตั้งเป้าให้บริการ 4 จังหวัด คือ เพชรบุรี สุโขทัย นครศรีธรรมราช และสกลนคร เริ่มตั้งแต่ มกราคม-สิงหาคม 2551 ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท สำหรับจังหวัดเพชรบุรี มีผู้พิการขึ้นทะเบียน 4,903 คน แบ่งเป็น แขนขาพิการ 2,337 คน ปัญญาอ่อน 691 คน ตาบอด 516 คน หูหนวก 520 คน ที่เหลือพิการซ้ำซ้อนจากโรคและพิการทางจิตใจ ซึ่งกรมการแพทย์ ได้นำทีมออกให้บริการตรวจรักษาระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-3 เมษายน 2551 ในลักษณะบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ประกอบด้วย ตรวจประเมินความพิการ ทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จดทะเบียนคนพิการ จัดทำแขน-ขาเทียมและมอบให้ผู้พิการได้ใช้เลย จัดทำรองเท้าคนพิการ 120 คน และบริการซ่อมแขนขาเทียมไม่จำกัดจำนวน โดยได้มอบรถนั่งคนพิการเด็ก 20 คันและผู้ใหญ่ 100 คัน ชุดล้อเลื่อนช่วยพยุงเดิน 10 คัน ไม้ค้ำยัน และไม้เท้าแบบต่างๆ นอกจากนี้ ให้บริการตรวจวัดการได้ยิน 150 คนต่อวัน และมอบเครื่องช่วยฟังแก่ผู้ที่หูตึงวันละ 100 เครื่อง ตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ตรวจวัดสายตา 150 คนต่อวัน และแจกแว่นตา 300 อันต่อวัน รวมทั้งให้บริการตรวจฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ใส่ฟันเทียมฐานพลาสติกแบบถอดได้ พร้อมทั้งตรวจคัดกรองรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้ผู้สูงอายุ และจัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อให้สามารถดูแลคนพิการได้อย่างถูกต้อง จำนวน 200 คน ************************************* 31 มีนาคม 2551


   
   


View 6    31/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ