กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแนวทางจับคู่เดินทาง (Travel Bubble) กับประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด 19 ต่ำ เริ่มในกลุ่มนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ครูนานาชาติ กำหนดมาตรการทุกขั้นตอน ตั้งแต่ประเทศต้นทางต้องตรวจหาเชื้อโควิดภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีประกันภัยครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด 19 มีแอปพลิเคชัน สมาร์ทโฟน ติดตามได้ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย

          วันนี้ (25 มิถุนายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์กระทรวงสาธารณสุข (MIU) กล่าวถึง ข้อเสนอการเดินทางรูปแบบ Travel bubble ว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ทำให้ขณะนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 31 วัน โดยมีการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ การเฝ้าระวังทั้งในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) การเฝ้าระวังในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เรือนจำ คนขับรถรับจ้าง/สาธารณะ ตรวจแล้วเกือบ 1 แสนราย รวมทั้งในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เช่น สมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงกว่า 1 หมื่นคน ไม่พบผู้ติดเชื้อ และจะขยายไปจังหวัดต่าง ๆ เป้าหมาย 24,000 ราย รวมทั้งการเฝ้าระวังในชุมชนและกลุ่มเสี่ยง โดยอาสาสมัครสาธารณสุข ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างระบบเศรษฐกิจสังคม และประชาชนในประเทศปลอดภัย รัฐบาลได้มีนโยบายเตรียมจับคู่เดินทางระหว่างสองประเทศที่สามารถจัดการเรื่องโควิด 19 ได้ดีเท่า ๆ กัน (Travel Bubble) โดยมีหลักการคือประเทศที่มีเสี่ยงต่ำเป็นคู่ ๆ ไป เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  กำหนดกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ครูนานาชาติ และเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะต้องมีแผนการทำกิจกรรม หรือ Time line ที่จะทำในประเทศไทยที่ชัดเจน

          นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า ได้กำหนดมาตรการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศกลุ่ม Travel bubble ไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด 19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง ทำประกันภัยครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด 19 และได้รับใบอนุญาตเดินทาง/ วีซ่า (Travel certificate/Visa) จากสถานทูตไทย ขณะเดินทาง ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สายการบินกำหนด สวมหน้ากากตลอดเวลา ลด/เลี่ยงการสัมผัสระหว่างผู้โดยสารด้วยกัน และลูกเรือ-ผู้โดยสาร เมื่ออยู่บนเครื่องหากมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกจะต้องแยกโซนที่นั่งจากผู้โดยสารอื่น และลูกเรือมีชุด PPE สำหรับเมื่อมาถึงประเทศไทย กำหนดสนามบินที่กรุงเทพฯ หรือสัตหีบ และแยกโซนไม่ปะปนกับผู้โดยสารภายในประเทศ มีคัดกรอง ตรวจหาเชื้อโควิด 19  ซึ่งจะต้องเพิ่มขีดความสามารถ/ความรวดเร็วของการตรวจ รวมทั้งผู้เดินทางเข้าทุกคนต้องมี Application DDCCare, หมอชนะ และใช้สมาร์ทโฟน ที่มีระบบ GPS/Bluetooth/4G เดินทางไปด้วยรถโรงแรมเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นโรงแรม/ที่พักที่ระบุไว้ ซึ่งควรแยกชั้นเฉพาะ มีระบบส่งต่อกับโรงพยาบาลคู่สัญญาดูแลรักษา เมื่อผลตรวจเชื้อโควิด 19 เป็นลบจึงเดินทางไปทำกิจกรรมได้ ขณะอยู่ในประเทศไทย ต้องติดตามตัวได้ตลอด และสังเกตอาการตัวเองหากป่วยให้พบแพทย์ หรือโทรปรึกษาทางสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

          นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหลายประเทศแสดงความสนใจ และมี 2 ประเทศที่ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการและระบุรายละเอียดการดำเนินงาน คือ จีน และญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข จะนำข้อเสนอของประเทศต่าง ๆ มาพิจารณาและเจรจากันเป็นคู่ประเทศ  เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

  ******************************* 25 มิถุนายน 2563

**********************************



   
   


View 2065    25/06/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ