องค์การอนามัยโลก เร่งทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์กระตุ้นประชาชนร่วมกันแก้ไขภาวะโลกร้อน เนื่องในวันอนามัยโลก 7 เมษายน 2551 ชี้โลกร้อนมีผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต โรคระบบทางเดินอาหาร ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคทางเดินหายใจมากขึ้น ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เน้นทุกหน่วยงานเร่งศึกษาวิจัยผลกระทบโลกร้อนในคนไทย เพิ่มความเข้มแข็งระบบการเฝ้าระวังโรค และออก 9 มาตรการ ให้หน่วยงานในสังกัดทั่วไทยร่วมลดภาวะโลกร้อน เช้าวันนี้ (2 เมษายน 2551) ที่ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูง ร่วมกันเปิดนิทรรศการ “รักษ์สุขภาพอนามัยพร้อมใจต้านโลกร้อน” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน เนื่องในวันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันลดภาวะโลกร้อน โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญวันอนามัยโลกว่า รักษ์สุขภาพอนามัยพร้อมใจต้านโลกร้อน (Protecting Health from Climate Change) เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันแก้ไขสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน นายไชยา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือภาวะโลกร้อน เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ทำให้เกิดความแปรปรวนทางธรรมชาติ แนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชากรโลก ทำให้อัตราป่วยและตายเพิ่มสูงขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือคลื่นความร้อนทำให้เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจ เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้น และทำให้เกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำเพิ่มมากขึ้น จากการขาดแคลนน้ำและอาหารสะอาด รวมทั้งการระบาดของโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออกและไข้มาลาเรียก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขไม่เข้มแข็ง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด นายไชยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยแม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่บรรยากาศโลกในสัดส่วนที่น้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 ของโลก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีสัญญาณภัยสุขภาพที่เป็นผลจากโลกร้อนที่สำคัญ เช่น ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า การระบาดของโรคไข้เลือดออกในรอบ 3 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30 ไข้มาลาเรียผู้ป่วยเพิ่มจาก 28,962 รายในปี 2549 เป็น 31,001 ราย ในปี 2550 โดยในรอบ 3 เดือนปีนี้พบป่วยแล้ว 3,023 ราย เสียชีวิต 10 ราย ส่วนอหิวาตกโรคในปี 2550 มีผู้ป่วย 988 ราย เสียชีวิต 7 ราย รอบ 3 เดือนปีนี้พบแล้ว 32 ราย เสียชีวิต 2 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมรับมือกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากภาวะโลกร้อน โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเน้นนโยบายเชิงรุก เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค ให้ทันต่อสถานการณ์ และสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย เพื่อการวางแผนการส่งเสริมสุขภาพประชาชน พร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อนด้วย ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศร่วมมือกันประหยัดพลังงาน โดยออกมาตรการลดภาวะโลกร้อนในระยะต้น 9 ประการ เพื่อให้หน่วยงาน/สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศปฏิบัติในแนวเดียวกัน ได้แก่ 1. จอดรถและดับเครื่องทันที และติดเครื่องยนต์เมื่อพร้อมที่จะออกรถ 2.เช็คลมยางให้ได้ตามมาตรฐานกำหนด การขับรถที่มีลมยางน้อยทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันถึง 3 เปอร์เซ็นต์ 3.ลดการใช้โฟมและพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย 4.ให้ใช้กระดาษทั้ง 2 หน้า 5.ใช้ถุงผ้าใส่เอกสารในการประชุมแทนกระเป๋า 6.ปิดสวิทช์เครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์สำนักงานเมื่อไม่ใช้งาน 7.ลดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เช่น แอร์ กระติกน้ำร้อน ลิฟต์ 8.ใช้น้ำอย่างประหยัด และ 9.แต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยในฤดูร้อนให้ใส่ผ้าฝ้าย เนื่องจากระบายความร้อนได้ดีกว่า เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการใช้แอร์ ********************************** 2 เมษายน 2551


   
   


View 7    02/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ