“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 97 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครอง ครู เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบริเวณบ้าน โรงเรียนและสถานศึกษา ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ป้องกันไข้เลือดออก-ไวรัสซิกา-ชิคุนกุนยา หากพบมีอาการไข้ 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย อาจมีการระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจลูกน้ำยุงลายจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 กรกฎาคม 2563 พบว่า บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล มีแนวโน้มค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย หรือค่าความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคมพบเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดย บ้านพบร้อยละ 13.95 วัดร้อยละ 5.89 โรงเรียนร้อยละ 3.92 และโรงพยาบาลร้อยละ 1.24 แนวโน้มที่สูงขึ้นในสถานที่เหล่านี้ อาจส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้ จึงต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยมาตรการ "3 เก็บ 3 โรค"
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือผู้ปกครอง ครู และทุกหน่วยงาน ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” โรค คือ เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยสำรวจทุกจุดที่มีน้ำขัง เช่น จานรองกระถาง ยางรถยนต์เก่า ภาชนะที่ไม่ใช้ ที่รองกันมด อ่างบัว/อ่างน้ำ ใส่ทรายอะเบจในทุกภาชนะที่จำเป็นต้องรองน้ำไว้ใช้ และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและช่วยป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วย ควรหยุดเรียน/หยุดทำงาน หากพบว่ามีไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษา ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
******************************** 20 กรกฎาคม 2563