กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดจัดสัปดาห์รณรงค์ส้วมสะอาด อาหารปลอดภัย 1-7 เมษายน 2551 รับวันสงกรานต์ กำชับพิเศษที่สถานีขนส่ง แนะประชาชนยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือและดื่มน้ำสะอาด หวังปราบโรคอุจจาระร่วงอยู่หมัด ชี้จุดที่พบเชื้อโรคในส้วมสาธารณะสูงสุด 3 จุดคือ ที่จับสายฉีดน้ำชำระพบมากที่สุดร้อยละ 85 พื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 และที่รองนั่งส้วมชักโครกพบร้อยละ 31 เผยช่วง 3 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้วเกือบ 3 แสนราย ชี้หากล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบของเข้าปากและหลังใช้ห้องส้วม จะลดอัตราป่วยได้กว่าร้อยละ 80 ลดเสียชีวิตร้อยละ 45 วันนี้ (4 เมษายน 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนาย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดรณรงค์ “ส้วมสะอาด อาหารปลอดภัย ประชาชนมั่นใจ รับวันสงกรานต์” ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อยกมาตรฐานความสะอาดส้วมสาธารณะและร้านจำหน่ายอาหารให้ปลอดภัย สร้างความมั่นใจต่อสุขภาพประชาชน โดยได้เยี่ยมชมที่ร้านจำหน่ายอาหารในศูนย์อาหาร 2 และดูความสะอาดส้วมที่อยู่ในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ พร้อมสาธิตวิธีการล้างมือที่ถูกหลักอนามัย ในวันนี้ได้นำเจลล้างมือ ผงน้ำตาลเกลือแร่และเอกสารการป้องกันโรคอุจจาระร่วงอย่างละ 5,000 ชุด แจกจ่ายประชาชนด้วย นายไชยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วันที่ 1-7 เมษายน เป็นสัปดาห์รณรงค์ให้ทุกจังหวัดล้างส้วมสาธารณะต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรับวันสงกรานต์ เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อ 5 วัน ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับต่างจังหวัด คาดว่าที่สถานีขนส่งจตุจักรจะมีประชาชนใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 100,000 คน ต้องใช้บริการร้านอาหารและใช้ห้องน้ำสาธารณะ หากไม่สะอาดก็จะเป็นแหล่งแพร่โรคไปสู่ต่างจังหวัดได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง ในรอบ 3 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยทั่วประเทศเกือบ 3 แสนราย เสียชีวิต 46 ราย เฉลี่ยป่วยเดือนละ 9 หมื่นกว่าราย หากประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ที่ใช้รายละประมาณ 500 บาท จะตกประมาณ 150 ล้านบาท เฉพาะในเดือนมีนาคมเดือนเดียวพบผู้ป่วย 60,194 เสียชีวิต 7 ราย นายไชยา กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงในช่วงสงกรานต์นี้ ได้เน้นเตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารให้มากขึ้น โดยขอให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือและดื่มน้ำสะอาด โดยให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ช่วยตรวจสอบดูแลความสะอาดร้านอาหาร แยกเขียงหั่นอาหารดิบ อาหารสุก เพื่อให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และดูแลความสะอาดของห้องส้วมไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค หากเราสามารถสร้างความสะอาดใน 2 เรื่องนี้ จะลดการป่วยจากโรคนี้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ทางด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การใช้ส้วมสาธารณะซึ่งมีการใช้ร่วมกันจำนวนมาก โอกาสการแพร่เชื้อก็จะมีมากด้วย จากการสำรวจส้วมสาธารณะทั่วประเทศล่าสุดในรอบ 3 เดือนนี้ พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศเพียงร้อยละ 20 และจากการตรวจความสะอาดในส้วมสาธารณะ จุดที่พบเชื้อโรคมากและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค ที่ต้องเน้นให้ทำความสะอาดเป็นพิเศษ 3 จุด คือ ที่จับสายฉีดน้ำชำระพบเชื้อมากที่สุดร้อยละ 85 พื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 และที่รองนั่งส้วมชักโครกพบเชื้อร้อยละ 31 สาเหตุที่ห้องส้วมสาธารณะไม่สะอาด ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้ส้วมใช้ไม่เป็น เช่น ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมชักโครก ไม่กดชักโครกหรือไม่ราดน้ำหลังการใช้ส้วม ทิ้งกระดาษชำระลงพื้นส้วม และไม่ล้างมือหลังการใช้ส้วม จึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในการใช้ส้วมให้ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าหากมีระบบสุขาภิบาลดี จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงได้มากกว่าร้อยละ 32 และหากส่งเสริมการล้างมือ สามารถอัตราตายลงได้ร้อยละ 45 ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางไปกับรถโดยสารที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงในจังหวัดที่อยู่ไกลๆ แนะนำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง พกยาติดตัวด้วย หรือพกผงน้ำตาลเกลือแร่หากท้องเสียเฉียบพลัน เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ ที่สำคัญหากต้องกินอาหารและใช้ห้องส้วมบนรถโดยสาร หรือระหว่างนั่งบนรถ แนะนำให้พกเจลทำความสะอาด ซึ่งใช้สะดวก ได้ผลดี ราคาไม่แพง ไม่ต้องใช้น้ำล้างตามเหมือนล้างด้วยสบู่ สำหรับโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง พบเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ติดอันดับสูงสุด 1 ใน 10 ของโรคที่เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา แต่ละปีจะมีประชาชนป่วยด้วยโรคนี้มากกว่า 1 ล้านคน นอกจากทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยาในปี 2550 มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว 1,257,284 ราย เสียชีวิต 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ เมษายน ************************* 4 เมษายน 2551


   
   


View 6    04/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ