วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ          สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมและทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ข้าราชการ และประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ปี 2560 – 2564 และการดำเนินงานในระยะต่อไป รวมทั้งรายงานการดำเนินงานของเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน และจังหวัดมหาสารคาม

          แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กราบบังคมทูลถวายรายงานผลการดำเนินงานตาม 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน สู่ความยั่งยืน สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ เช่น Iodine Global Network (IGN) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งสมาพันธรัฐสวิสในซูริค (ETH Zurich) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ต่อยอดมาตรการเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า มุ่งสู่มาตรการเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืน และมีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนในการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ รวมทั้งขับเคลื่อน “ชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน” อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ผ่านเกณฑ์ประเมินร้อยละ 76.4 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีน ผลการเฝ้าระวังคุณภาพเกลือบริโภคในสถานที่ผลิตและจำหน่าย ในปี 2562 พบว่า มีเกลือผ่านมาตรฐานในสถานที่ผลิตร้อยละ 87.7 และในสถานที่จำหน่ายร้อยละ 71.7 ความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนร้อยละ 80.2 ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น การเฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีน ในหญิงตั้งครรภ์พบว่ามีสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังต้องดำเนินมาตรการจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีนต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การประชาสัมพันธ์และการตลาดเชิงสังคม จัดงานวันไอโอดีนแห่งชาติ ในวันที่ 25 มิถุนายน ทุกปีอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในปี 2563 นี้ มีการรณรงค์ภายใต้หัวข้องาน “ผู้ประกอบการอาหารร่วมใจ ใช้เกลือเสริมไอโอดีน ทุกมื้อ ทุกวัน ทุกวัย ต้องได้ไอโอดีน” และรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ

          ยุทธศาสตร์ที่ 4 การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย เช่น การประเมินการได้รับสารไอโอดีนจากเกลือเสริมไอโอดีนในอาหารแปรรูป พบว่าอาหารแปรรูปเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่สามารถเพิ่มการได้รับสารไอโอดีนไปยังประชากรไทย จากเกลือเสริมไอโอดีนที่อยู่ในอาหารแปรรูป และการเติมไอโอดีนในน้ำปลา ซอส ซีอิ๊ว และน้ำเกลือปรุงอาหาร ยังเป็นอีกมาตรการที่ช่วยป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

          สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป คือการขับเคลื่อนชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนในกลุ่มเสี่ยงและเร่งรัดดำเนินนโยบายการจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมทุกราย พร้อมทั้งรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างความรอบรู้ให้แก่ประชาชน

          ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำชี้แนะและทรงมีพระราชวินิจฉัย แผนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ทอดพระเนตรนิทรรศการ และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ

 ***************************************** 31 กรกฎาคม 2563



   
   


View 1392    31/07/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ