“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและองค์การเภสัชกรรม สำรองหน้ากากทางการแพทย์กว่า 45 ล้านชิ้น ชุด PPE กว่า 1 ล้านชุด หน้ากาก N95 จำนวน 2.3 ล้านชิ้น พร้อมยา เวชภัณฑ์ สนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพียงพอรับสถานการณ์ระบาดระลอก 2
วันนี้ (31 สิงหาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วยดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม แถลงข่าว ความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน และวัคซีน รองรับโควิด 19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองอุปกรณ์ป้องกัน ชุด PPE หน้ากาก N95 และยาอย่างเพียงพอ สำรองไว้ทั้งในส่วนกลางที่องค์การเภสัชกรรมและส่วนภูมิภาคในโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีจำนวนกว่า 45 ล้านชิ้น เพียงพอใช้ 100 วัน มีกำลังการผลิต 3.4 ล้านชิ้นต่อวันจาก 45 โรงงาน ชุด PPE ทั้งที่เป็นชุดคลุม/เสื้อกาวน์ กว่า 1 ล้านชุด หน้ากาก N95 จำนวน 2.3 ล้านชิ้น ยาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอรักษาผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์สำหรับผู้ป่วย 33 ราย ส่วนด้านวัคซีนนั้น อย.พร้อมให้การสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนโดยเร็ว ทั้งวัคซีนที่วิจัยและผลิตขึ้นเองในประเทศ และวัคซีนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยมีการผลิตหน้ากากทางการแพทย์ ชุด PPE และเป็นฐานการผลิตถุงมือ จึงมีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอรับมือหากมีการแพร่ระบาดระลอก 2
ด้าน ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมในฐานะองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา จำนวน 590,200 เม็ด หน้ากาก N95 จำนวน 1,765,010 ชิ้น ชุด PPE แบบ COVERALL จำนวน 445,746 ชุด แบบ ISOLATION GOWN จำนวน 287,759 ชุด นอกจากนั้น ได้สร้างกลไกการสนับสนุน ยา อุปกรณ์ป้องกันโควิด 19 ให้กับระบบสาธารณสุขไทยเป็นอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และการพึ่งพาตนเองของประเทศ โดยได้ศึกษาพัฒนาสูตรตำรับ ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตเองในประเทศ คาดว่าจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนในเดือนตุลาคม 2564 และได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบสารเคมีตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ค่อนข้างยาก แต่ต้องดำเนินการเพื่อความมั่นคงด้านยาของประเทศ
ดร.ภญ.นันทกาญจน์กล่าวต่อว่า ด้านชุด PPE ได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ผลิตชุด PPE รุ่นเราสู้ จากฝีมือคนไทย ที่สามารถซักใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง และได้ส่งมอบไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ จำนวนกว่า 44,000 ชุด พร้อมกันนั้น ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมชุด PPE จากเส้นใยรีไซเคิลจากขวดพลาสติก PET ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็น “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” ที่สามารถป้องกันเชื้อและการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน Level 3 ซักใช้ซ้ำได้มากกว่า 50 ครั้ง โดยถ้าสถานการณ์ที่จำเป็น Platform นี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ชุดPPE ได้ใช้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันภาคเอกชนได้ผลิตชุด PPE Level 3 ออกจำหน่ายให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ประสานผู้ประกอบการภายในประเทศ ผลิต PPE Level 4 สามารถป้องกันได้ในระดับสูงขึ้น จำนวน 60,000 ชุด จะจัดส่งภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับด้านวัคซีน ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบ อาทิ ชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) พัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ ใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง และได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโควิด 19 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ ไปผลิตเป็นวัคซีนโดยเทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ต่อไป คาดว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิด จะทราบผลเบื้องต้นในปลายปี 2563 การที่องค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในระดับอุตสาหกรรมอยู่แล้ว นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพและความพร้อมในระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถใช้ต่อยอดประยุกต์สำหรับใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้เร็วขึ้น
**************************** 31 สิงหาคม 2563
*******************************