กระทรวงสาธารณสุขย้ำจุดยืน แบนการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อปกป้องเกษตรกร ประชาชน ไม่ให้เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากสารเคมีอันตราย เผยปี 2563 พบผู้ป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช จำนวน 4,933 คน เสียชีวิต 1 ราย

          วันนี้ (31 สิงหาคม 2563) ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดี เลขาธิการอย. และรองอธิบดีทุกกรม ร่วมแถลงข่าว “สธ.ย้ำจุดยืน แบน 3 สารเคมีอันตราย” โดยนายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชน ขอแสดงจุดยืนในการแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ให้หยุดการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อปกป้อง คุ้มครองเกษตรกร และประชาชน ไม่ให้เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากสารเคมีอันตรายดังกล่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นจากใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

          “กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่าจะคัดค้านอย่างเต็มที่และจะคุ้มครองประชาชนให้มีความปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ขอให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย คิดถึงสุขภาพของพี่น้องประชาชน ความปลอดภัยของประเทศ  และความมั่นคงยั่งยืนของระบบเกษตรกรรมในประเทศไทยเป็นสำคัญ ไม่เอาสารเคมีอันตรายกลับมาทำร้ายคนไทยอีกต่อไป แม้ว่าตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขมี 2 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่จะขอยืนหยัดแบนการใช้ 3 สารเคมีอันตรายถึงที่สุด ” นายอนุทินกล่าว

          ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ให้ยุติการใช้สารเคมีอันตราย และให้ความรู้แก่ประชาชน เกษตรกร ผ่านคณะกรรมการจังหวัด เกี่ยวกับอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร เพื่อให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย ลดการปนเปื้อนสารเคมีในสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรปลอดภัยจากสารพิษในการทำงาน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมี นโยบายชัดเจนว่าในปี 2563 เป็น “ปีแห่งเกษตรอินทรีย์ปลอดโรคประชาชนปลอดภัย” ให้ทุกโรงพยาบาลและหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปรุงอาหารจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ให้คนไข้ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายขยายใน 5 ร. คือ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม โรงอาหาร และเรือนจำ เพื่อให้ทุกคนมีร่างกายที่แข็งแรงปลอดภัยจากโรค

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพเกษตรกร และประชาชนที่เจ็บป่วย และเสียชีวิต จากสาเหตุการใช้ หรือสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการให้บริการในหน่วยบริการสาธารณสุข ฐานข้อมูล 43 แฟ้ม พบว่ามีผู้ป่วยจากโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช จำนวน 41,941 ราย โดย ปี 2560 มีผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 10,686 ราย ส่วนปี 2562 พบผู้ป่วยจำนวน 6,008 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ลดลงนั้น สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสารเคมีที่ลดลงในปี 2562สำหรับในปี 2563 (1 มกราคม – 29 สิงหาคม 2563) พบผู้ป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช จำนวน 4,933 ราย โดยพบผู้ป่วยจากกลุ่มสารกำจัดแมลง รวมถึงสารคลอร์ไพริฟอส จำนวน 2,951 ราย  กลุ่มสารกำจัดวัชพืช รวมถึงสารพาราควอต และไกลโฟเซต มีจำนวน 889 ราย                               

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานเชิงรุก สำรวจข้อมูลสถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรและอาการผิดปกติในครัวเรือนที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร ผ่านการสำรวจโดย application อสม. ออนไลน์ และจาก อสม. และหน่วยงานเครือข่าย ในปี 2563 ทั้งสิ้น 2,646,260 ครัวเรือน พบมีครัวเรือนที่ยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตรจนถึงปัจจุบันจำนวน 677,522 ครัวเรือน (ร้อยละ 25.60) ซึ่งมีสมาชิกที่มีอาการผิดปกติ ได้แก่ มือสั่นร่วมกับเดินเซ (โรคพาร์กินสัน) 12,554 คน , ชาปลายมือ ปลายเท้า 79,645 คน, ผิวหนังอักเสบ  22,569 คน,  เนื้อเน่า 641 คน  ไตเสื่อม (ต้องทำการฟอกไตเป็นประจำ) 2,349 คน, มะเร็งเม็ดเลือดขาว  370 คน, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 922 คน และปัญญาอ่อน 1,132 คน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากพาราควอต จำนวน 1 ราย ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเกิดจากการหกรดระหว่างฉีดพ่นสารดังกล่าว ทำให้สารพาราควอต ดูดซึมผ่านทางผิวหนัง และร่างกาย ก่อให้เกิดอาการ

ทางระบบหายใจ

          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากสารเคมีกําจัดศัตรูพืชทุกชนิดมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผู้ที่ได้ผลกระทบอันดับแรก คือเกษตรกรประมาณร้อยละ 43.2 รองลงมาคือรับจ้างทั่วไปร้อยละ 21.1 โดยพาราควอต มักส่งผลกระทบต่อปอด ผิวหนัง ไกลโฟเซต ส่งผลกระทบต่อ ต่อมน้ำเหลือง สำหรับคลอร์ไพริฟอส ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท และพัฒนาการในเด็ก และจากข้อมูล 4 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจาก 3 สารเคมี ดังกล่าว ประมาณ 2,000 ราย

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการตรวจวิเคราะห์สารเคมีอันตรายตกค้างในผักและอาหารในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารตกค้างในผักและผลไม้สด จากตลาดในเครือข่าย 41 จังหวัด จำนวน 154 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม ปี 2563 ตรวจวิเคราะห์ 3 สาร พบคลอร์ไพริฟอส ตกค้างอยู่ร้อยละ 13 ไกลโฟเซต ตกค้างร้อยละ 4 ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะตกค้างในสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเข้าไปในร่างกายมนุษย์เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

          นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยยึดหลัก “ความปลอดภัย ไม่มีการต่อรอง” เฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารทั้งในประเทศและการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน ในปี 2563 ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเก็บผัก ผลไม้ ในประเทศ ส่งตรวจหาสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส กว่า 770 ตัวอย่าง โดยในภูมิภาค เก็บตัวอย่างส่งตรวจ 692 ตัวอย่างจากแปลงปลูก สถานที่ คัดบรรจุ ตลาดสด/นัด ห้างสรรพสินค้า พบคลอร์ไพริฟอส 14 ตัวอย่าง โดยเฉพาะกะเพราพบ คลอร์ไพริฟอสสูงเกินค่ามาตรฐาน 2 ตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร เก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า 80 ตัวอย่าง พบพาราควอต 8 ตัวอย่าง โดยเฉพาะ คื่นช่าย พบเกินค่ามาตรฐาน 1 ตัวอย่าง สำหรับการเฝ้าระวังผัก ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ 496 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้ เป็นผัก 240 ตัวอย่าง พบคลอร์ไพรีฟอสตกมาตรฐาน จำนวน 21 ตัวอย่าง เช่น ปวยเล้ง คะน้า คื่นช่าย ถั่วลันเตา ผักชี เป็นต้น ส่วนผลไม้ 256 ตัวอย่าง พบคลอร์ไพริฟอสตกมาตรฐาน จ้านวน 5 ตัวอย่าง ทับทิม องุ่น ลูกแพร/สาลี่ และยังพบพาราควอตตกมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง องุ่น บลูเบอร์รี่ เป็นต้น ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ. ศ. 2563 ได้กำหนดให้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่ง อย. ในฐานะเลขานุการ ของคณะกรรมการอาหารได้ดำเนินการต่อเนื่อง ในการเตรียมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง โดยร่วมหารือ กับทุกภาคส่วน ยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยด้านสุขภาพ และความเท่าเทียมทางการค้า ซึ่งคณะกรรมการอาหาร ได้เห็นชอบ กำหนดค่าสารตกค้างเป็นค่าต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจได้ หรือค่า LOD ขอให้ประชาชนมั่นใจ อย. ยึดมั่นเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

         นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทำงานร่วมกับ อสม. ทั้งประเทศโดย อสม. 1 คน ดูแลประชาชน 15 ครัวเรือน สิ่งที่ได้ดำเนินการคือ 1. ชมรมอสม. ทุกจังหวัดยืนยันจุดยืนแบน 3 สาร เช่นเดียวกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ 2. อสม. จะเป็นผู้นำในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เป็นตัวอย่างเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดละเลิกการใช้ 3 สาร 3. อสม.ทำการสำรวจการใช้สารเคมีในครัวเรือนร่วมกับกรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง และให้ความรู้กับประชาชน สำหรับทิศทางขับเคลื่อนต่อไปคือ อสม.จะมีบทบาทสำคัญในตำบลปรับเปลี่ยนสุขภาพ โดยจะบรรจุเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์และการต่อต้านสารพิษ เพื่อจะทำให้เป็นพลังในการขับเคลื่อน ร่วมกับประชาชน

          นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ตกค้างทำให้สมองในเด็กไม่พัฒนาเท่าที่ควร การที่จะระงับการใช้สารพิษต่างๆ จึงมีความจำเป็น นอกจากนี้ยังพบการนำสารเคมีมาใช้เพื่อฆ่าตัวตาย หลังจากการควบคุมการใช้ ข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า อัตราการใช้สารพิษเพื่อฆ่าตัวตายลดลงเกือบร้อยละ 20

         “ขอยืนยันว่า จะดำเนินนโยบายเรื่องการแบน 3 สาร ต่อจากท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ให้เป็นปัญหาด้านสุขภาพเพราะเป็นสารพิษที่มีอันตราย เรื่องของสุขภาพของประชาชนต้องมาก่อนกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีหน้าที่รักษาโรคอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ควบคุม ระงับยับยั้งปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยให้น้อยที่สุด”

          นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่ากรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกขอยืนยันว่ายาแผนไทยหรือยาพัฒนาจากสมุนไพรรวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ควรเป็นวัตถุดิบที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ป่วย ได้ใช้ยาที่มีคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้สามารถนำผลิตภัณฑ์ ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เนื่องจากตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสมุนไพรที่เป็นเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก

          นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีบทบาทสำคัญในการดูแลการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก มีรายงานว่า สารเคมีอันตรายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กที่ล่าช้า จากการพบสารเคมีตกค้างในน้ำนมแม่ และในขี้เทาของเด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงปัจจัยเสี่ยงในการเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชนในอนาคต เพราะปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ มีเพียงปีละ 6 แสนคน เท่านั้น และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อให้เด็กที่เกิดน้อยเหล่านี้ อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงทุกด้านรวมถึงสารเคมีอันตรายเหล่านี้ด้วย

 ********************************* 31 สิงหาคม 2563



   
   


View 2488    31/08/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ