กระทรวงสาธารณสุขชื่นชมทีมแพทย์จิตอาสา มูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต ช่วยผ่าตัดรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมพื้นที่ห่างไกล รพ.เบตง ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ศักยภาพเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เข้าถึงบริการเดินได้ ไม่ปวดเข่าอีก

         นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล เบตง จังหวัดยะลา พบว่า โรงพยาบาลเบตงมีความร่วมมือกับมูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต ที่มี ศ.นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานมูลนิธิฯ และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดข้อเข่าระดับประเทศ ได้นำทีมแพทย์จิตอาสาและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มาช่วยทำการผ่าตัดข้อเข่าให้แก่ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเบตง ซึ่งโรคข้อเข่าถือเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเบตง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการจัดบริการแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย

        "การมาช่วยผ่าตัดผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่โรงพยาบาลเบตง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนแพทย์ ได้รับการดูแลรักษาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง จากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยแล้วหลายสิบราย และทำให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ของแพทย์กระทรวงสาธารณสุขด้วย" นายแพทย์สุขุมกล่าว

        ศ.นายแพทย์กีรติ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ต้องการช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะอยู่พื้นที่ห่างไกล ก็ไม่ต้องเสียโอกาส ได้รับการผ่าตัดรักษาที่มีศักยภาพไม่แตกต่างจากโรงเรียนแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับการผ่าตัดข้อที่โรงพยาบาลเบตงเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 ถือเป็นครั้งที่ 3 มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดจำนวน 10 ราย รวม 14 ข้อ แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดข้อ 2 ข้าง จำนวน 4 ราย และผ่าตัดข้างเดียวจำนวน 6 ราย ข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยที่ควรผ่าตัด คือ ข้อเข่าเสื่อมหรือข้อสะโพกเสื่อมระยะสุดท้าย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้ยาก โดยแพทย์ของโรงพยาบาลเบตงจะคัดกรองเบื้องต้น จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิฯ จะประเมินเรื่องความเสี่ยงต่ออันตราย เพื่อจัดการดูแลรักษาให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ป่วยสูงสุด เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุมักมีโรคประจำตัว หากไม่สามารถควบคุมโรคได้ดีพอก็จะไม่สามารถผ่าตัดได้ รวมถึงยังต้องตรวจระบบไต ระบบไหลเวียนเลือด และระบบการหายใจด้วย

        "แม้จะทราบจำนวนผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดว่าแต่ละคนจะผ่าตัดข้อกี่ข้าง แต่อุปกรณ์ข้อเทียมจะต้องเตรียมพร้อมจำนวนมากและหลายขนาด เช่น จะผ่าตัดจำนวน 10 ข้าง อาจะต้องเตรียมไว้ 40-50  ข้อ เพราะข้อ 1 ข้าง อาจมีข้อ 4-5 ขนาดที่เราต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการผ่าตัด" ศ.นายแพทย์กีรติกล่าว

         แพทย์หญิงปัทมพันธ์ อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตงมีการขึ้นลงเขาเพื่อทำการเกษตร ทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม หลายรายประสบปัญหาการเดินทาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้มารับการรักษา ทำให้มีอาการเรื้อรัง ขณะที่แพทย์ออโธปิดิกส์เรามีเพียงท่านเดียว และไม่มีวิสัญญีแพทย์ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการผ่าตัดรักษา แต่จากการประสานงานกับทางมูลนิธิศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต ที่ได้นำทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ก่อนการผ่าตัดจะมีการประสานเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลช่วยให้ความรู้ เตรียมความพร้อม และแนะนำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านผู้ป่วย โดยเฉพาะห้องส้วมให้เหมาะสม ไม่เป็นการทำร้ายข้อเข่าหลังการผ่าตัด และมีการเยี่ยมติดตามหลังผ่าตัดด้วย

       ทั้งนี้จากการพูดคุยกับผู้เข้ารับการผ่าตัดข้อเข่า เพศหญิง อายุ66 ปีได้เล่าว่า ตนมีอาการข้อเข่าเสื่อมมานานหลายสิบปี เกิดจากการทำสวนขึ้นเขาลงเขา โดยช่วงแรกมีอาการปวดๆ หายๆ ไม่ได้รักษาและอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะปวดตลอด โดยเฉพาะตอนกลางคืน ทำให้มีปัญหาเรื่องของการนอนไม่หลับ และมีอาการข้อผิดรูป จนกระทั่งได้รับการผ่าตัดจากทีมแพทย์ศัลย์ฯสร้างข้อต่อชีวิต เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกของการผ่าตัด โดยตนผ่าตัดเข่าข้างซ้ายก่อน ก็ไม่พบอาการปวดเข่าอีก เดินได้สะดวกขึ้น ส่วนข้อเข่าขวาตั้งใจจะผ่าตัดในการจัดโครงการครั้งที่ 2 แต่แพทย์ระบุว่าเวลายังใกล้กันเกินไป จึงมาเข้าร่วมการผ่าตัดในครั้งที่ 3 นี้แทน ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมแพทย์ทุกท่านที่ช่วยให้ตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

************************************** 5 กันยายน 2563

**********************

 

 

 



   
   


View 852    05/09/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ